วันที่ 26-28 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ พร้อมด้วยคณะทำงาน นักวิจัยและสื่อมวลชน ลงพื้นที่เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานภายใต้โครงการอำเภอต้นแบบแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี
โดยในวันแรก วันที่ 26 มิถุนายน 2563 ทีมงานลงพื้นที่เยี่ยมชมการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ ที่โรงพยาบาลโกสุมพิสัย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ให้การต้อนรับโดย นายแพทย์ชัยวุฒิ ชัยดีกระยอม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโกสุมพิสัย
โดย นายแพทย์ชัยวุฒิ ชัยดีกระยอม ผู้อำนวยการ รพ.โกสุมพิสัย กล่าวว่า “พื้นที่อำเภอโกสุมพิสัยเป็นพื้นที่ที่มีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีมาอย่างต่อเนื่อง เราทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน โดยหนึ่งในภาคีที่สำคัญ คือ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ม.ขอนแก่น ที่ได้ลงมาทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน ที่ รพ โกสุมพิสัย เราได้รับการสนับสนุนเครื่ิองอัลตร้าซาวด์จากสถาบันฯ มาจำนวน 1 เครื่ิอง พร้อมระบบ CASCAP Cloud ที่สามารถบันทึกข้อมูลลงระบบ Isan Cohort ได้ทันที ตอนนี้ที่ รพ.โกสุมพิสัย เรามีคลินิกตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ทุกวันจันทร์ วันอังคารและวันพุธ สามารถตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงได้มากกว่า 200 คนต่อสัปดาห์ ซึ่งจะสามารถค้นหาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในระยะแรกในพื้นที่ได้”
จากนั้น วันที่ 27 มิถุนายน 2563 คณะทำงานได้เดินทางลงพื้้นที่ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ เพื่อศึกษาการทำงานเชิงบูรณาการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีและวิถีชีวิตของชุมชนรอบบริเวณลุ่มน้ำปาว โดยมีนายชรินทร์ ภู่ชัย นายอำเภอท่าคันโท และ นพ.พุทธรักษ์ ดีสิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าคันโท พร้อมทีมงานให้การต้อนรับ
อำเภอท่าคันโท เป็นอำเภอที่มีภูมิประเทศที่ตั้งอยู่เชิงเขาภูพระ และภูโน ด้านหลังติดริมแม่น้ำปาว ดังนั้นประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงมีวิถีชีวิตที่มีพฤติกรรมการบริโภคปลา โดยเฉพาะปลาน้ำจืดวงศ์ปลาตะเพียน ซึ่งเสี่ยงต่อการติดโรคพยาธิใบไม้ตับ ผลการตรวจพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ ปี 2560-2562 พบว่า อ.ท่าคันโท มีอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ร้อยละ 0.77, ร้อยละ 1.25 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ
นายแพทย์พุทธรักษ์ ดีสิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าคันโท กล่าวว่า “อำเภอท่าท่าคันโท มีประชากร 4 หมื่นกว่าคน ด้วยภูมิประเทศอยู่ติดแม่น้ำปาว ทำให้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลา กลุ่มเสี่ยงพยาธิใบไม้ตับมีค่อนข้างสูง ดังนั้นเราจึงเดินหน้าทำงานเชิงรุกแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในอำเภอ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการทำงานทั้งในส่วนอำเภอและส่วนตำบล ทำงานโดยยึดชุมชนเป็นฐาน มีการสร้างธรรมนุญไม่กินปลาดิบในชุมชน เช่น มีงานบุญ งานศพปลอดปลาดิบทุกหมู่บ้าน ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ต้องเสียค่าปรับ 1,000 บาท นอกจากนี้เรายังมีกิจกรรมเต้นบาสโลบเลิกกินปลาดิบทั้งตำบล มีหมอลำกลอนต้านพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มีเครือข่าย อสม./อย.น้อย ต้าน OV ในโรงเรียน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในชุมชนและทุกโรงเรียนของ อ.ท่าคันโท เรามีการสร้างการรับรู้และสร้างความตระหนักได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้เรายังมีการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีให้กับกลุ่มเสี่ยงอยู่เสมอ เรามีความมุ่งหวังที่จะลดอัตราผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และลดอัตราผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีลง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวท่าคันโท”
จากนั้นในวันที่ 28 มิถุนายน 2563 คณะทำงานได้ลงพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองไผ่ ต.เสาเล้า อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ เพื่อเข้าเยี่ยมชมกระบวนการทำงานแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ให้การต้อนรับโดย นายสมดี โคตตาแสง สาธารณสุขอำเภอหนองกุงศรี โดยการทำงานแก้ไขปัญหาฯ ของอำเภอหนองกุงศรีมีการรณรงค์สร้างการรับรู้ถึงภัยของพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งในประชาชนและสถานศึกษาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีจะได้มาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี
สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ผ่านโครงการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเชิงบูรณาการ หรือเรียกกันในชื่อ “โครงการอำเภอโมเดล” โดยมุ่งเน้นการลดอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับ เน้นการรณรงค์และสร้างความตระหนักครอบคลุมทั้งพื้นที่ การคัดกรองกลุ่มเสี่ยงพยาธิใบไม้ตับด้วยการตรวจคัดกรอง คัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีระยะแรกในพื้นที่ดำเนินการเข้าสู่การผ่าตัดรักษาและเพิ่มอัตราการรอดชีพของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่รับการผ่าตัดรักษาในพื้นที่ดำเนินการ ซึ่งอำเภอท่าคันโท เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ทางสถาบันวิจัยฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยร่วมมือกับคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 และหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้นำเอาโครงการวิจัยในการแก้ปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในด้านต่างๆ มาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานที่สอดรับกับอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ยึดถือการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศเพื่อสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะภาคอีสาน
ภาพ/ข่าว : ปณิธาน ศรีบุญเรือง