เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2568 คณะศิลปกรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการแสดงผลงาน “ศิลปะการแสดงร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI” ถือเป็นครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ.ดร.อนุชา โสมาบุตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ในการนี้มีผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมชมการแสดงกว่าร้อยคน ณ อาคารปฏิบัติการด้านการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างรายวิชา EN 813500 Machine Learning คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้การดูแลของ ศาสตราจารย์ วนิดา แก่นอากาศ และชุดวิชา FA 412200 Performance and Technology คณะศิลปกรรมศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนัชพร กิตติก้อง เพื่อบูรณาการศาสตร์ที่แตกต่างสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางศิลปะที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีล้ำสมัย

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี กล่าวว่า “โครงการ Performance & AI นี้ไม่เพียงเป็นการแสดงศิลปะรูปแบบใหม่ แต่ยังเป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการผลักดันนโยบาย AI-Ready University ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม การบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และศิลปะการแสดงไม่เพียงแค่สร้างสรรค์ผลงานที่น่าทึ่ง แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาเผชิญกับโลกยุคใหม่ที่ AI เข้ามามีบทบาทในทุกสาขาอาชีพ ความคิดสร้างสรรค์ผสานกับบูรณาการความร่วมมือของนักศึกษาทั้งสองคณะ สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม การผสานศาสตร์แห่งศิลปะและเทคโนโลยีเช่นนี้ ก่อให้เกิดมุมมองใหม่ในการใช้ AI และเติมเต็มทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักศึกษาของเรา”
ไฮไลท์ของงานในครั้งนี้คือการจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์ถึง 22 ชิ้น ภายใต้แนวคิด “การทดลองสร้างความเป็นไปได้” โดยแบ่งเป็น นิทรรศการอินเทอร์แอคทีฟที่ผู้ชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้ จำนวน 4 ชิ้น ละครเวทีและการเคลื่อนไหวร่วมกับเทคโนโลยี จำนวน 9 ชิ้น และผลงานด้านการเต้นและนาฏศิลป์ร่วมสมัย จำนวน 9 ชิ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนนำเสนอความก้าวล้ำของการผสมผสานระหว่างศิลปะการแสดงและเทคโนโลยี AI
จุดเด่นของการแสดงอยู่ที่การใช้ระบบ Posture Detection หรือระบบตรวจจับท่าทางของร่างกายที่สามารถวิเคราะห์และตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของนักแสดงแบบเรียลไทม์ ทำให้การแสดงสามารถควบคุมองค์ประกอบของแสง สี และภาพฉายตามการเคลื่อนไหวของนักแสดง นอกจากนี้ยังใช้ Sound Detection หรือการตรวจจับเสียงเพื่อสร้างมิติใหม่ในการแสดง โดยใช้เสียงพูด เสียงจากวัตถุ หรือแม้แต่จังหวะการหายใจของนักแสดง มาควบคุมการเปลี่ยนแปลงของภาพหรือบทสนทนา

ศาสตราจารย์ วนิดา แก่นอากาศ อาจารย์ผู้สอนวิชา Machine Learning กล่าวถึงศักยภาพของนักศึกษาว่า “สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความโดดเด่นด้วยหลักสูตรที่มุ่งเน้นการสร้าง AI Engineer สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล นักศึกษาจะได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงกับเทคโนโลยี AI ที่ทันสมัย พร้อมกับโอกาสในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างเต็มตัวในอนาคต”

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนัชพร กิตติก้อง อาจารย์ผู้สอนวิชา Performance and Technology เปิดเผยถึงความนิยมในหลักสูตรศิลปะการแสดงว่า “หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแสดง หลักสูตรกระบวนทัศน์ใหม่ ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม เห็นได้จากการรับสมัครเข้าศึกษาต่อในรอบพอร์ทโฟลิโอเพียงรอบเดียว มีผู้สนใจสมัครกว่า 600 คน ซึ่งรับได้เพียง 30 คน หลักสูตรการแสดงของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาสมรรถนะของนักศึกษาให้เป็นนักปฏิบัติการด้านการแสดงที่มีความพร้อมในการเรียนรู้และรับมือกับโจทย์ใหม่ๆ ของโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะการทำงานข้ามศาสตร์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่านักศึกษาทางศิลปกรรมรุ่นใหม่ๆ จะต้องรู้จัก และรู้ว่าจะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร”
ความสำเร็จของโครงการ “Performance & AI” สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความพร้อมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการก้าวสู่การเป็น AI-Ready University อย่างเต็มรูปแบบ ผ่าน 3 หลักการสำคัญ ได้แก่ การบูรณาการความรู้และทักษะ AI ระหว่างสาขาวิชาที่แตกต่างกัน (AI Proficiency) การสร้างวัฒนธรรมการใช้ AI ในกิจกรรมทางศิลปะ (AI Culture) และการส่งเสริมการใช้ AI อย่างสร้างสรรค์เพื่อสังคม ผ่านกระบวนการทางศิลปะ (AI & Society)
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังมีแผนในการจัดกิจกรรมบูรณาการข้ามศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในการรับมือกับโลกอนาคตที่เทคโนโลยี AI จะเข้ามามีบทบาทในทุกสาขาอาชีพ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ข่าว : วัชรา น้อยชมภู
ภาพ : สาขาวิชาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์














