KKU Enterprise มข. เยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทยในมาเลเซีย ร่วมพัฒนานวัตกรรมปุ๋ยน้ำนาโน หนุนเกษตรล้ำสมัยทั้งสองประเทศ

 

คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดยนายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช Chief Executive Officer (CEO) KKU Enterprise ได้เข้าเยี่ยมคารวะนางสาวลดา ภู่มาศ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  ท่ามกลางบรรยากาศอันอบอุ่นและการต้อนรับอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา

การนี้ทั้งสองฝ่ายหารือความร่วมมือระหว่างบริษัท Lily Pharma (Thailand) ซึ่งมีฐานะเป็น startup ของมหาวิทยาลัยฯ กับภาคเอกชนมาเลเซีย ซึ่งบริษัทฯ ดำเนินการวิจัยและพัฒนา และผลิตปุ๋ยน้ำนาโน ส่วนภาคเอกชนมาเลเซียจะนำขยายผลเชิงพาณิชย์ในตลาดมาเลเซีย

การเดินทางครั้งนี้มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อศึกษาระบบการผลิตและการดำเนินธุรกิจปุ๋ยน้ำนาโนในประเทศมาเลเซียของบริษัท ลิลลี่นาโน อะโกรไซเอ็นซ์ จำกัด (Lilynano Agroscince Sdn.Bhd.) ณ รัฐมะละกา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด สตาร์ทอัพในเครือมหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท ไอน์สไตน์ โมโนไซเอ็นซ์ จำกัด (Einstein Nanoscience Sdn. Bhd.) จากประเทศมาเลเซีย

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า  “นวัตกรรมปุ๋ยน้ำนาโนนี้ไม่ใช่เพียงก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับภาคเกษตรกรรมของไทยสู่เวทีนานาชาติ เราไม่ได้มุ่งหวังเพียงผลกำไรทางธุรกิจ แต่ต้องการสร้างนวัตกรรมผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์เกษตรกรและสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคเอเชีย”

นอกจากนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้บริหารของบริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด ยังได้ขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการเข้าพบนายภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู เพื่อหารือแนวทางในการทำธุรกิจร่วมกับนักธุรกิจจากรัฐกลันตันและรัฐตรังกานูมากกว่า 15 ท่าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการขยายตลาดที่กว้างขวางขึ้น

“การร่วมทุนครั้งนี้เป็นการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาสู่ภาคธุรกิจจริง และยังตอกย้ำจุดยืนของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมการเกษตรของภูมิภาค” คุณเรวัต จินดาพล ผู้บริหารบริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด กล่าวเสริม

รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช CEO ของ KKU Enterprise เผยวิสัยทัศน์ว่า “เรากำลังสร้างสะพานเชื่อมระหว่างงานวิจัยในรั้วมหาวิทยาลัยกับการใช้งานจริงในภาคเกษตรกรรม และนี่คือหนึ่งในความสำเร็จที่ เป็นรูปธรรมของการผลักดันให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสนับสนุนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการอย่างแท้จริง”

 

การเยือนครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการศึกษาดูงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการวางรากฐานสำคัญในการสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศที่มั่นคง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในภาคการศึกษาและภาคเกษตรกรรมของทั้งสองประเทศต่อไป