มข. นำร่องชุมชนต้นแบบ แปรรูปใบอ้อยสร้างรายได้ ลดการเผา-PM 2.5

          จากวิกฤตฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งกลายเป็นปัญหาระดับชาติ หนึ่งในต้นตอสำคัญคือการเผาไร่อ้อยเพื่อเตรียมการเพาะปลูกใหม่ โดยข้อมูลในปี 2565 ระบุว่ามีใบอ้อยเหลือทิ้งและถูกเผาในไร่กว่า 12 ล้านตัน ซึ่งนอกจากจะสร้างมลพิษทางอากาศแล้วยังเป็นการสูญเสียโอกาสในการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ รัฐบาลจึงผลักดันโครงการส่งเสริมเกษตรกรให้นำใบอ้อยและเถ้าชานอ้อยมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่า เพื่อลดมลพิษและสร้างรายได้ควบคู่กัน

          สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ สำนักบริการวิชาการ ร่วมจัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์จากใบอ้อยและเถ้าชานอ้อย ภายใต้โครงการ “ชุมชนต้นแบบเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้” ณ บ้านท่าชัย ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568

            รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ คนใหญ่ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักบริการวิชาการ เปิดเผยว่า โครงการนี้มุ่งสร้างต้นแบบชุมชนที่สามารถนำวัสดุเหลือใช้ เช่น ใบอ้อยและเถ้าชานอ้อย มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า อาทิ ถ่านอัดแท่งที่มีค่าความร้อนสูงและควันน้อย ซึ่งได้รับการพัฒนาจากงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้เลือกบ้านท่าชัยเป็นชุมชนต้นแบบ เนื่องจากมีความพร้อมด้านทรัพยากรและชุมชน และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 2 (ศอภ.2) โดยการฝึกอบรมครั้งนี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจให้เกษตรกรในกระบวนการแปรรูปวัสดุเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ ตั้งแต่ การจัดหาวัตถุดิบ การผสม การอัดแท่ง การลดความชื้น และการบรรจุภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ได้นำไปปรับใช้ โดยเน้นการสร้างอาชีพที่ยั่งยืน ลดการเผาพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของ PM 2.5

        โครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หลายมิติ เช่น การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ (SDG 8) การสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรม (SDG 9) การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13) และการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ (SDG 17) โดยผลสำเร็จจากชุมชนต้นแบบนี้คาดว่าจะสามารถนำไปต่อยอดสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างเศรษฐกิจพลังงานทดแทนระดับชุมชน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อมสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ยั่งยืนต่อไป “โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำทรัพยากรที่เหลือใช้มาสร้างคุณค่า ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย” รศ.ดร.ศุภสิทธิ์ กล่าวปิดท้าย

Scroll to Top