คณะวิทยาศาสตร์ มข. จัดงาน “Faculty Fusion” รวมพลังนักวิจัยสู่นวัตกรรมระดับชาติ

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “Faculty Fusion: Experiences Worth Sharing” รวมตัวนักวิจัยและคณาจารย์กว่า 150 คน แบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จด้านการวิจัยและนวัตกรรม ณ ห้องประชุมวิทยวิภาส 1  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา

ผศ. ดร.อังคณา  บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “กิจกรรม Faculty Fusion: Experiences Worth Sharing จัดเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้านการเรียน การทำงาน การวิจัย และพัฒนาแนวคิด ของนักศึกษาและบุคลากร เพื่อให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน  ตลอดจนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้มีความน่าสนใจ การบริการวิชาการ  วิธีการถ่ายทอดงานวิจัยและองค์ความรู้สู่ชุมชน เป็นการรวมพลังของนักวิจัยที่มากด้วยประสบการณ์ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขอขอบคุณวิทยากรทั้ง 5 ท่าน ที่ได้มาแชร์ประสบการณ์ให้พวกเราฟังในวันนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้ ผู้เข้าร่วมงาน จะสามารถเอาไปปรับใช้ในการทำงานของบุคลากรเองและด้านการเรียนของนักศึกษาได้เป็นอย่างดี”

ศ. ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ  อาจารย์สาขาวิชาฟิสิกส์ ผู้มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นด้านการพัฒนาวัสดุไดอิเล็กทริก ผู้คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2568  เผยถึงหัวข้อ “From Student to Scientist: A Journey to National Research Excellence” เส้นทางจากการเป็นนักศึกษาจนกระทั่งเป็นนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จต้องมีคุณสมบัติ อยากรู้อยากเห็นและความมุ่งมั่นในการสร้างงานวิจัยที่ทรงคุณค่า ความอดทน พยายาม มุ่งมั่น และอยู่กับปัจจุบัน จะทำให้สำเร็จ

รศ. ดร.นงลักษณ์ มีทอง อาจารย์จากสาขาวิชาฟิสิกส์ นักวิจัยผู้มีผลงานโดดเด่นด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานสะอาดจากวัสดุเหลือใช้ เช่น แกลบและขยะจากเซลล์แสงอาทิตย์ ต้นแบบการผลักดันนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย เผยถึง หัวข้อ Battery of Change: From Experiments to Enterprises การเดินทางจากห้องปฏิบัติการสู่นวัตกรรมตลอดช่วงระยะเวลา 15 ปีที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้ฝากแง่คิดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจกับผู้ฟัง คือ “Join the revolution to create a future where energy is abundant, affordable & sustainable one innovative step at a timeมาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมทีละขั้น เราจะสามารถมีพลังงานในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ อย่างอุดมสมบูรณ์ และยั่งยืนในอนาคต

        ผศ. ดร.สุกัญญา เรืองสุวรรณ  อาจารย์สาขาวิชาสถิติและวิทยาการข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตร ผู้ริเริ่มปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของยุคดิจิทัล กล่าวถึง การปรับปรุงหลักสูตรให้เท่าทันโลกผ่านหัวข้อ “Overcoming Obstacles: A Successful OBE Curriculum Design Journey” ว่า การเตรียมบัณฑิตให้พร้อมรับมือกับความท้าทายของโลกยุคใหม่ และส่งต่อข้อคิดต่อการปรับปรุงหลักสูตร คือ การปรับปรุงหลักสูตร ให้มีมาตรฐานช่วยเตรียม นักศึกษาสู่โลกยุคใหม่ ทุกการปรับปรุงคือการ ลงทุนในความสำเร็จของพวกเขาและของเราทุกคนทั่วประเทศ

รศ. ดร.วัฒนา พัฒนากูล อาจารย์สาขาวิชาชีววิทยา ผู้มุ่งมั่นพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะกับนักศึกษาในยุคที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้ถ่ายทอดวิธีการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีผลกระทบเชิงบวกและกระตุ้นให้ผู้สอนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ในการจัดรูปแบบการเรียนการสอนผ่านหัวข้อ “Teaching in the New Era: When the Good Old Days No Longer Work” ว่า การสอนในยุคปัจจุบัน ไม่เหมือนในอดีต ผู้เรียนเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน อาจารย์ที่ดีจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาวิธีการสอน ของตนเองอยู่เสมอ

           รศ. ดร.นันทวัน ฤทธิ์เดช  อาจารย์สาขาวิชาจุลชีววิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ชุมชน ผู้เชื่อมโยงงานวิจัยเข้ากับการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมแบ่งปันผ่านหัวข้อ “Breaking the Lab Walls: Can Communities and Scientists Work Hand-in-Hand?”  การช่วยเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน พร้อมทั้งสร้างองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน เคล็ดลับความสำเร็จคือการทำงานเป็นทีม จิตสาธารณะ ใจบริการ พร้อมทำงานเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง

ในช่วงท้ายของกิจกรรม ผศ. ดร.อังคณา บุญยืด เป็นตัวแทนมอบดอกไม้แสดงความยินดีแด่ ศ. ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ ในโอกาสที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ประจำปี 2568  จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) อีกด้วย

งาน Faculty Fusion ครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สู่การเป็นศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมระดับภูมิภาค ที่พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

Scroll to Top