เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๗ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการ กระบวนการผลิตของโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ เป็นการส่วนพระองค์ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
โดยเวลา ๑๒.๓๐ น. รถยนต์พระที่นั่งออกจากอาคารศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปยังโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ โดยมี นายศิรวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิสาหกิจและสังคมยั่งยืน พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ ข้าราชการ พนักงาน และนักศึกษา เฝ้าฯ รับเสด็จ จากนั้น อาจารย์ณัฐสมล ธนกุลรังสฤษดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและสื่อสารองค์กร ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย ก่อนเสด็จเข้าสู่โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กราบบังคมทูลรายงานว่า โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ ผลิตและให้บริการผลิตแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน และแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออน ภายใต้เครื่องหมายการค้า เคเคยูโวลต์ อีกทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้และสถานที่สหกิจศึกษา ให้กับหลักสูตรวิทยาศาสตร์แบตเตอรี่และพลังงานใหม่ ซึ่งเป็นหลักสูตรด้านแบตเตอรี่ ระดับปริญญาตรี แห่งแรกของประเทศไทย
จากนั้นนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ระบบกักเก็บพลังงานที่ใช้แบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ขนาด ๒๕ กิโลวัตต์ชั่วโมง พร้อมระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ขนาด ๑๐ กิโลวัตต์สูงสุด จำนวน ๑ ชุด ระบบกักเก็บพลังงานที่ใช้แบตเตอรี่แบบเคลื่อนที่ได้ (All in One Moveable BESS) ขนาด ๕ กิโลวัตต์ชั่วโมง จำนวน ๒ ชุด และ แบตเตอรี่สำรองแบบพกพา ขนาด ๒,๖๐๐ มิลลิแอมป์ชั่วโมง จำนวน ๑๓๐ ชิ้น เพื่อทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัย
ในโอกาสนี้ ทรงเยี่ยมชมนิทรรศการและกระบวนการผลิต จำนวน ๗ จุด ได้แก่ จุดที่ ๑นิทรรศการ: จากวัสดุสู่การผลิตเซลล์แบตเตอรี่
จุดที่ ๒ นิทรรศการ: จากเซลล์แบตเตอรี่สู่การใช้งาน และระบบ IoT
จุดที่ ๓ กระบวนการ: การประกอบเซลล์แบตเตอรี่แบบกึ่งอัตโนมัติ
จุดที่ ๔ กระบวนการ: การผลิตขั้วไฟฟ้า
จุดที่ ๕ กระบวนการ:คัดเลือกและจัดกลุ่มเซลล์แบตเตอรี่
จุดที่ ๖ กระบวนการ: การผลิตแพ็คแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน
จุดที่ ๗ กระบวนการ: การทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่ตามมาตรฐานสากล
จากนั้น ทรงเสด็จเข้าห้องรับรองเพื่อทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก และทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร และบุคลากร
สำหรับโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ ปัจจุบันผลิตแบตเตอรี่ ๒ ชนิด ได้แก่ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซล่าร์เซลล์ และแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหิน ภายใต้แบรนด์เคเคยูโวลต์ พร้อมทั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์แบตเตอรี่และพลังงานใหม่ ซึ่งเป็นหลักสูตรด้านแบตเตอรี่ระดับปริญญาตรีแห่งแรกของประเทศไทย
โดยในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ เสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจ เวลา ๑๓.๑๐ น. จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังท่าอากาศยานขอนแก่น