“นวดคอ” อันตรายจริงไหม ? หาคำตอบกับผู้เชี่ยวชาญ มข. พร้อมแนะ 3 ท่ากายบริหารลดอาการปวดคอง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

กลายเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์จนหลายคนตั้งคำถามและเริ่มกลัวการพบหมอนวด โดยเฉพาะคนที่มีอาการปวดคอ เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการนวดคอและบิดคอนั้นอาจนำไปสู่ความเสี่ยงถึงชีวิต วันนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น อยากชวนทุกคนไปหาคำตอบว่า “การนวดคอนั้นอันตรายจริงไหม” จาก ศ.ดร.กภ.วิชัย อึงพินิจพงศ์ นักวิจัยอาวุโส สาขากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศ.ดร.กภ.วิชัย อึงพินิจพงศ์ นักวิจัยอาวุโส สาขากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า การนวดแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ การนวดเพื่อบรรเทาอาการ จะเป็นการนวดไปที่เส้นเอ็น หรือกล้ามเนื้อคอและบ่า  เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนที่ปวด และอีกแบบ คือ การนวดเพื่อสุขภาพ ใช้เทคนิคเส้นประทาน 10 ของการนวดไทย ในการนวดเส้นเอ็นต่าง ๆ ในร่างกายซึ่งมีที่บ่าและคอด้วย เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย

การนวดไทยตามมาตรฐานไม่มีการบิดคอ หรือ หักคอ อย่างไรก็ตามผู้นวดต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการเรียนรู้และอบรมที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะบริเวณคอด้านหน้าเป็นจุดอันตรายที่มีเส้นเลือดแดงใหญ่ (Carotid) อยู่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ห้ามกดนวด เพราะหากเผลอไปกดนวดถูกบริเวณนี้ก็อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งผู้ที่ได้เรียนการนวดอย่างถูกวิธีจะทราบว่าจุดไหนอันตราย

การปวดคออาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุแต่ที่พบบ่อย ๆ คือ ปวดคอจากออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากการก้มมองจอโทรศัพท์หรือจอคอมพิวเตอร์จนทำให้เกร็งกล้ามเนื้อคอเพื่อประคองศีรษะที่หนัก 3-4 กิโลกรัมเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน อีกสาเหตุ คือ ข้อสันหลังส่วนคอเสื่อม ซึ่งมีทั้งเสื่อมตามอายุขัย และเสื่อมจากอุบัติเหตุ  บางคนอาจปวดคอจากโรคติดเชื้อในไขสันหลังก็จะมีอาการปวดคอ คอแข็ง ขยับคอไม่ได้ นอกจากนี้อาการปวดคอยังอาจมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆอีก ที่ต้องวินิจฉัยต่อไปก่อนให้การรักษา

 

ปวดคอแบบไหนต้องไปนวดหรือทำกายภาพบำบัด ?

เมื่อต้องทำงานหนักหรือมีความเครียดสะสมแล้วรู้สึกปวดคออาจจะยังไม่ต้องมาพบแพทย์หรือกายภาพบำบัด เพียงแค่พักผ่อนก็จะดีขึ้นได้ภายใน 2-3 วัน แต่หากยังปวดคอต่อเนื่องก็ควรพิจารณาเข้าพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อตรวจ วินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งอาการปวดคอนั้นจะมีตำแหน่งแปรเปลี่ยนไปตามโครงสร้างเนื้อเยื่อที่มีปัญหา เช่น หากปวดคอ เนื่องจากกล้ามเนื้อเกร็ง จะปวดตึงที่บ่า ร้าวขึ้นไปถึงหลังคอจนไปถึงหลังหู แต่หากเป็นกล้ามเนื้อใต้ท้ายทอยก็จะปวดที่ท้ายทอยและอาการปวดนั้นอาจร้าวไปถึงกระหม่อม หรือถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อข้างคอเกร็งก็จะร้าวไปที่กกหูเลยไปขมับในข้างเดียวกัน แต่ถ้าเป็นโรคข้อสันหลังส่วนคอเสื่อมก็จะปวดลึกๆเขาไปในกระดูกคอและก็อาจร้าวลงมาที่บ่าและสะบัก

ในส่วนการปวดคอเนื่องจากข้อต่อสันหลังส่วนข้อเสื่อมจะปวดเฉพาะที่ ปวดที่กระดูกลึก ๆ ด้านในและร้าวมาที่สะบัก ส่วนใหญ่จะเป็นการเสื่อมของกระดูกข้อส่วนที่ 4-6 หากไม่รักษาจะร้าวลงไปที่หัวไหล่ สะบัก และลงไปที่ข้อศอกหรือมือได้ หากอาการรุนแรงจะมีอาการชา หรือ เหมือนมีไฟฟ้าช็อต กรณีนี้เป็นค่อนข้างมาก แต่ยังมีทางรักษา ขอให้รีบมาพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด อย่าปล่อยให้เป็นมากจนไปถึงขั้นอ่อนแรง


เมื่อการรักษาอาการปวดคอไม่ได้มีแค่การนวด

เมื่อมีอาการปวดคอคนไข้จะได้พบนักกายภาพบำบัดที่คลินิก หรือพบแพทย์ที่โรงพยาบาล จะมีการซักประวัติเพื่อสอบถามถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว หรืออุบัติเหตุ เพื่อหาสาเหตุ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรักษา เช่น การนวดด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ การประคบร้อน การนวดด้วยมือเปล่า เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า การใช้เลเซอร์ในการบำบัด การใช้เครื่องช็อตเวฟ หรือการบริหารกล้ามเนื้อเพื่อให้คอแข็งแรงและกระชับและยังจะช่วยปรับโครงสร้างกระดูกคอให้เป็นปกติ บางคนอาการหนักอาจเข้าเครื่องดึงคอ (Traction) แบบเบา ๆ ซึ่งวิธีการรักษาทั้งหมดจะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดอาการปวด และทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

เช็ก 3 ท่ากายบริหาร ลดอาการปวดคอ-เสริมกล้ามเนื้อให้แข็งแรง


การป้องกันอาการปวดคอในชีวิตประจำวันสามารถทำได้เอง คือ อย่านั่งทำงานก้มมองจอและเกร็งกล้ามเนื้อคอเป็นเวลานาน แบ่งระยะเวลาเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆครึ่งชั่วโมง รวมถึงการปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับสรีระของมนุษย์ เช่น การปรับความสูง-ต่ำของโต๊ะหรือเก้าอี้ทำงานให้องศาของศีรษะตั้งตรงไม่ต้องก้ม สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การออกกำลังกายและบริหารด้วย 3 ท่ากายบริหารซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง บรรเทาอาการปวดเมื่อยคอ และช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่คอและสมองได้สะดวก การบริหารต่อไปนี้ทำง่ายๆด้วยตนเองในขณะนั่งหรือยืนก็ได้ ใช้เวลาไม่นานเกินห้านาที ควรทำทุกวัน

ท่าที่ 1 ตั้งคอตรง หน้ามองตรงไปข้างหน้าประสานมือไว้หลังศีรษะก่อน แล้วจึงออกแรงที่ศีรษะไปด้านหลังต้านกับแรงมือซึ่งดันมาด้านหน้า แล้วเกรงไว้ นับ 1-10 (ประมาณ 10 วินาที) แล้วผ่อนแรงต้านนำมือลงพักสักครู่หนึ่ง แล้วทำใหม่ทั้งหมด 5-10 เซ็ต

ท่าที่ 2 กางมือซ้ายออก แล้วใช้บริเวณส้นมือซ้ายแนบกดไปบริเวณครึ่งบนของหูซ้าย หน้ามองตรง มือและศีรษะออกแรงต้านกัน นับ 1-10 ทำทั้งหมด 5-10 เซ็ต แล้วเปลี่ยนข้างไปทำด้านขวาเช่นเดียวกัน

ท่าที่ 3 ใช้มือทั้สองข้างประสานกันวางฝ่ามือไว้ที่หน้าผากตั้งคอให้ตรงแล้วออกแรงมือและศีรษะต้านกัน นับ 1-10 ทำทั้งหมด 5-10 เซ็ต หากทำทั้ง 3 ท่านี้เป็นประจำจะช่วยให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง ลดอาการปวดคอ และเป็นอีกเทคนิคในการปรับโครงสร้างของกระดูกคอได้แบบธรรมชาติและปลอดภัยอีกด้วย

นอกจากการดูแลตนเองด้วยท่าบริหารที่แนะนำไปแล้ว ผู้ที่มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ สามารถเข้ารับบริการจากทีมผู้เชี่ยวชาญที่คลินิกกายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งพร้อมให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 08.30-19.30 น. ด้วยทีมนักกายภาพบำบัดมืออาชีพที่รองรับผู้ป่วยได้มากถึง 70 คนต่อวัน นอกจากนี้ยังมีคลินิกเฉพาะทางสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยเด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต รวมถึงบริการนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพโดยหมอนวดที่ได้มาตรฐาน และการรักษาแบบแพทย์แผนจีน ทั้งการฝังเข็ม กัวซา และรมยา 

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจก้าวสู่เส้นทางวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดสอนในระดับปริญญาตรี 4 ปี 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขากายภาพบำบัด และสาขาเทคนิคการแพทย์ ด้วยหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตั้งแต่วิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ไปจนถึงการฝึกปฏิบัติในคลินิกกับผู้ป่วยจริง ภายใต้การดูแลของคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: AMSatKKU หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ข่าว : ผานิต ฆาตนาค
ภาพ : ชญานิน สุทธิโคตร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Scroll to Top