วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ร่วมกับสภาพนักงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการการประชุมวิชาการ ปอมท. ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้หัวข้อ Generative AI ที่สร้างสรรค์ในการเปลี่ยนแปลง การศึกษา : นวัตกรรมความท้าทาย และภาพอนาคต “Generative AI in Transforming Education : Innovations, Challenges, and Future Prospects” ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น
ผศ.ดร.ภัทรวิทย์ พลพินิจ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมพิธีรับโล่พระราชทานอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ และการประชุมวิชาการระดับชาติ ปอมท. ประจำปี 2567 พร้อมระบุว่า ขอขอบคุณที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ที่ให้เกียรติและมอบโอกาสให้สภาพนักงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการระดับชาติ ปอมท. และต้อนรับทุกท่านในวันนี้ และขอขอบคุณ คณะกรรมการทุกท่านที่ร่วมกันจัดประชุมวิชาการอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งขอแสดงความยินดีกับ อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 ทั้ง 6 ท่านด้วย
ด้าน ผศ.ดร.สุรพล เนสุสินธุ์ ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) กล่าวรายงานว่า การประชุมวิชาการระดับชาติ ปอมท. ประจำปี 2567 จัดขึ้นเพื่อให้บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสานความร่วมมือ ประสบการณ์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนการพัฒนาตนเองและองค์กรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หัวข้อ “Generative AI ที่สร้างสรรค์ในการเปลี่ยนแปลงการศึกษา : นวัตกรรม ความท้าทาย และภาพอนาคต” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และวิทยากรที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการมากมายมาร่วมแลกเปลี่ยนในการประชุมครั้งนี้
ขณะเดียวกันยังมีการแสดงผลงานของ “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567” เพื่อยกย่อง และเชิดชูเกียรติอาจารย์ที่ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในเชิงวิชาการและการถ่ายทอดความรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม และอุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในนามของฝ่ายจัดการประชุม ตลอดจนผู้เข้าร่วมประชุม ทุกท่าน รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานโล่รางวัลอาจารย์ดีเด่น แห่งชาติ ประจำปี พุทธศักราช 2567 อันนำความปลาบปลื้ม ปีติยินดี แก่อาจารย์ ดีเด่นแห่งชาติ ทั้ง 6 ท่าน และที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่ง ประเทศไทย อย่างหาที่สุดมิได้
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ Generative AI เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรม การแพทย์ รวมถึงภาคการศึกษานั้นก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างเนื้อหา สื่อการสอน การสร้างแบบทดสอบ การสร้างสถานการณ์จำลองที่มีความหลากหลาย เพื่อส่งเสริมทักษะต่างๆ ให้กับนิสิตนักศึกษาได้
“ในวันนี้เป็นอีกหนึ่งบทบาทของการศึกษาไทยที่ทุกท่านมาประชุมร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนและสรรค์สร้างเกี่ยวกับ Generative AI ในการประยุกต์ใช้ ในการเรียน การสอน และการวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดประเทศชาติต่อไป”
ในการนี้ ผศ.ดร.สุรพล เนสุสินธุ์ ประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ได้เปิดกรวยถวายราชสักการะ พร้อมอ่านคำกราบบังคมทูลเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเข้าสู่พิธีรับโล่พระราชทาน รางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 โดยผู้ได้รับรางวัลทั้ง 6 ท่าน จาก 6 สาขา ประกอบด้วย
-
- อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ได้แก่ รศ.ดร.อภิรัตน์ เลาห์บุตรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ ศ.ดร.นพ.สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ รศ.ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขามนุษยศาสตร์ ได้แก่ รศ.ดร.โสภนา ศรีจำปา จาก มหาวิทยาลัยมหิดล
- อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาศิลปกรรมศาสตร์ ได้แก่ ศ.ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร
- อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขารับใช้สังคม ได้แก่ ศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนพดล จาก มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับการประชุมวิชาการ ปอมท. ประจำปี พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน 2567 อัดแน่นไปด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวิจัยมากมาย ตั้งแต่การปาฐกถาพิเศษ “นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์” โดย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อด้วยการเสวนาวิชาการ “จริยธรรมและจรรยาบรรณการใช้ปัญญาประดิษฐ์กับการวิจัยและการปฏิบัติงาน” โดย ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อ.ภัทร์วดี มาศภูมิ Microsoft trainer certify ผู้เชี่ยวชาญ Microsoft Copilot และดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.กฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิจัย และการต่างประเทศ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายเรื่อง “Digital Money และ Blockchain Technology ที่ส่งผลต่อการศึกษา เศรษฐกิจและสังคม” โดยคุณชานน จรัสสุทธิกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์เวิร์ดแลปส์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม Defi Forward และผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain และการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Generative AI:ขับเคลื่อนนวัตกรรมการทำงานและการศึกษา” โดย รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้งาน Generative AI
ทั้งยังมีเวทีสำหรับนำเสนอผลงานวิชาการ/วิจัย ในรูปแบบบรรยาย และโปสเตอร์ เพื่อร่วมกันผลักดันงานวิจัยสหสาขา ไปสู่การพัฒนาประเทศ และการวิจัยจากงานประจำของบุคลากรสายปฏิบัติการ รวมทั้ง การสร้างความร่วมมือด้านวิชาการของคณาจารย์ นักวิชาการและนักวิจัย ระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปสู่การขับเคลื่อนทิศทางการศึกษาเพื่อประเทศชาติต่อไปในอนาคตอีกด้วย
ภาพ : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์
KKU Hosts Prestigious CUSFT Annual Conference on AI and Honors National Outstanding Lecturers of 2024