แพทย์ มข.ชวนรู้จัก “โรคไอกรน” เด็กเล็กกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง แนะพ่อแม่รับวัคซีนลดโอกาสแพร่สู่ลูกได้

ปลายฝนต้นหนาว โรคภัยต่าง ๆ ก็เริ่มถามหา แต่ที่ใครหลายคนกำลังสงสัยและค้นหาจนกลายเป็นประเด็นยอดนิยมในโซเชียลช่วงนี้คงหนีไม่พ้น โรคไอกรน” หลังจากมีข่าวว่าโรงเรียนบางแห่งต้องปิดชั่วคราวเนื่องจากระบาดของโรคไอกรนในกลุ่มเด็กเล็ก แล้วโรคนี้คืออะไร มีอาการ และวิธีรักษา-ป้องกันอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีคำตอบ

อ.พญ.เพ็ญพิชชา เสมอตน กุมารแพทย์โรคติดต่อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายเกี่ยวกับ “โรคไอกรน” ว่า เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากแบคทีเรีย หลังจากที่มีการติดเชื้อแล้ว ตัวเชื้อจะทำให้มีการอักเสบในทางเดินหายใจ และเป็นสาเหตุให้เกิดอาการไอ

การไอของโรคไอกรนจะค่อนข้างจำเพาะ คือ ไอต่อเนื่องกันเป็นชุด ๆ ชุดละ 5-10 ครั้ง เมื่อหยุดจะมีการหายใจเข้าอย่างแรง เรียกว่าการหายใจแบบวู๊ป (Whooping cough) ก่อนจะไอต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เรียกโรคนี้ว่า ไอกรน”

เช็ก! 3 ระยะ อาการโรคไอกรน พร้อมวิธีรักษา

สำหรับโรคไอกรนแบ่งช่วงแสดงอาการโรคได้เป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 เรียกว่า ระยะอาการหวัด ซึ่งจะคงอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยอาจจะไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูก และไอเล็กน้อย อาการคล้ายหวัดทำให้แยกอาการของโรคจากหวัดทั่วไปได้ยาก หลังพ้นระยะแรก จะเข้าสู่ระยะที่ 2 เรียกว่า ระยะไอรุนแรง ซึ่งจะเริ่มมีอาการไอรุนแรงมากขึ้น ไอเป็นชุดและหายใจมีเสียงวู๊ป ในระยะนี้อาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์

ในเด็กเล็กบางคนที่ไอมาก ๆ ก็อาจมีภาวะขาดออกซิเจน มีภาวะเขียว หรืออาการที่รุนแรงมาก  ๆ ก็อาจจะมีการเสียชีวิตได้ในระยะนี้ สำหรับผู้ใหญ่บางคนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น อาการปอดอักเสบ หรือบางรายที่ไอมาก ๆ ก็อาจจะรบกวนการนอน ทำให้น้ำหนักลดได้ และอาจจะมีการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่  ส่วนผู้สูงอายุ ที่ไอแรง ๆ ติดต่อกันมาก ๆ ก็มีความเสี่ยงกระดูกซี่โครงหักได้

และสุดท้าย คือ ระยะที่ 3 เรียกว่า ระยะฟื้นตัว จะเป็นระยะที่อาการไอค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วอาการก็จะค่อย ๆ หายไป หากไม่มีโรคแทรกซ้อน ส่วนใหญ่อาการโรคไอกรนจะเป็นโดยรวมอยู่ที่ 6-10 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นโรคไอกรนแล้ว ก็สามารถรักษาได้ โดย .พญ.เพ็ญพิชชา กล่าวว่า การรักษาโรคไอกรนจะใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ ซึ่งยาที่เลือกใช้โดยทั่วไปจะเป็นยากลุ่มแมโครไลด์ (Macrolide)  เช่น ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) รับประทานเป็นเวลา 5 วัน โดยยังมียาสูตรอื่นที่สามารถใช้ได้ โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคลอีกครั้ง นอกจากนั้นเป็นการรักษาทั่วไป เช่น หากไอมากก็อาจได้รับยาแก้ไอ ควรหลีกเลี่ยงสารที่จะทำให้ไอมากขึ้น และต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ ผู้ที่มีอาการหนักมาก ๆ ก็ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล หรืออาจต้องให้ออกซิเจนในบางราย

การเป็นโรคไอกรนหากไม่ได้รับการรักษาก็สามารถหายเองได้ แต่ระยะเวลาป่วยอาจจะนาน 1-2 เดือน และความรุนแรงของโรคก็จะมีมากกว่า ดังนั้น หากมีอาการที่สงสัยหรือสัมผัสผู้ติดเชื้อไอกรนโดยตรงก็ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วดีกว่า”

เตือนกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนไอกรน ป้องกันแพร่เชื้อ-ลดความรุนแรงโรค

 

ขณะที่ อ.นพ.สิรภูมิ เนียมสนิท กุมารแพทย์โรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคไอกรน คือ กลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนที่มีประวัติเป็นโรคไอกรนชัดเจน แต่โดยทั่วไป เด็กโตและผู้ใหญ่อาการจะไม่รุนแรง เพราะฉะนั้นขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก ส่วนเด็กเล็กก็อาจจะมีอาการของโรครุนแรงกว่า โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ที่ยังได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนไม่ครบ หรือผู้สูงอายุ ก็มีความเสี่ยงที่อาการจะรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น


“เนื่องจากโรคไอกรนเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ จึงสามารถแพร่และติดต่อกันได้ผ่านการไอ-จามรดกัน ดังนั้น ใครที่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีประวัติชัดเจนว่าเป็นโรคไอกรนก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ หรือบางกรณีผู้ปกครองได้รับเชื้อมาโดยไม่มีอาการ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ลูกหลานได้ ถือว่าเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยโรคไอกรนจะใช้เทคนิค PCR โดยนำสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจมาตรวจ ซึ่งจะพิจารณาส่งตรวจวินิจฉัยเฉพาะคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีประวัติป่วยไอกรนชัดเจน และด้วยปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำและรวดเร็ว ทั้งยังตรวจได้ในหลาย ๆ สถานพยาบาล จึงทำให้อาจพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น แต่อยากย้ำว่าไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก ซึ่งระยะฟักตัวของโรคไอกรนจะอยู่ที่ 5-21 วัน หากมีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยโรคไอกรนก็ต้องเฝ้าระวังตามเวลาที่กำหนด เมื่อมีอาการไอ มีน้ำมูก หรือเป็นไข้ก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยได้

ทั้งนี้ อ.นพ.สิรภูมิ ย้ำว่า สิ่งสำคัญคือการป้องกันโรคไอกรนตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย ไปจนถึงการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กจะได้รับวัคซีนชนิดรวมที่ช่วยป้องกันทั้งโรคไอกรน โรคคอตีบ และโรคบาดทะยักร่วมกัน โดยจะได้รับตั้งแต่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ปีครึ่ง และ 4-6 ปี ซึ่งวัคซีนไอกรนจะคงประสิทธิภาพได้ประมาณ 5-7 ปี จากนั้นภูมิจะค่อย ๆ ตกลง จึงเป็นเหตุผลที่จะให้วัคซีนกระตุ้นอีกครั้งที่อายุ 10 ปี และต้องกระตุ้นวัคซีนทุก ๆ 10 ปี ไปเรื่อย ๆ ไม่เพียงแค่เด็กเล็กเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะพ่อแม่ ก็สามารถมารับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อไอกรนสู่ลูกหลานได้

 

Scroll to Top