มข.ผนึกคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย เปิดตัวแผนพัฒนา AI แห่งชาติ ขับเคลื่อนเทคโนโลยีไทยสู่อนาคต ที่แรกที่ขอนแก่น

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 วิทยาลัยคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ศาสตรา วงศ์ธนวสุ  ร่วมมือกับ คณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ พร้อมด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญ รวมถึง   รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณะ ชินสาร   รองศาสตราจารย์ ดร.เอกรัฐ บุญเชียง   ได้เปิดตัว “แผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย พ.ศ. 2568-2573” จัดทำโดยเครือข่ายความร่วมมือวิจัยทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science Cooperative Research Network (CSCRN) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ AI ในประเทศให้ทันสมัยและแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ICSEC 2024 ครั้งที่ 28 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น

ศาสตราจารย์ ดร.ศาสตรา วงศ์ธนวสุ

โดยศาสตราจารย์ ดร.ศาสตรา วงศ์ธนวสุ ได้นำเสนอถึงความสำคัญและแนวคิดในการผลักดัน AI ในไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางสังคม นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ยังได้แถลงถึงเป้าหมายของแผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย โดยต้องการให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้เหมาะสมกับอนาคต และ รองศาสตราจารย์ ดร.เอกรัฐ บุญเชียง ได้เสนอแนวทางแก้ไขและข้อเสนอแนะในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ต่อสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล โดยเน้นถึงปัญหาที่ประเทศไทยต้องเผชิญ พร้อมชี้ให้เห็นถึงแนวทางการปรับปรุงนโยบาย การวางโครงสร้างพื้นฐาน และการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะช่วยผลักดันการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดผลสำเร็จในทางปฏิบัติ

ซึ่งแผนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ 5 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบไปด้วย

  1. การพัฒนาทฤษฎีพื้นฐานใหม่: มุ่งเน้นการสร้างทฤษฎีพื้นฐานTiny AI ที่ประหยัดพลังงาน รวมถึงการสร้างระบบเทคโนโลยีหลัก AI ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมข้อมูลแบบสตรีมมิ่ง และการประมวลผลข้อมูลหลายรูปแบบตามแบบจำลองการทำงานของสมอง
  2. การสร้างระบบเทคโนโลยีหลัก: พัฒนาเครื่องมือการคำนวณ เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้ามสื่อ ระบบปัญญาแบบกลุ่ม และการขับขี่แบบไร้คนขับอัตโนมัติ
  3. การพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรม: พัฒนาแพลตฟอร์มแบบโอเพนซอร์ส บริการอัจฉริยะ ฐานข้อมูล และระบบตรวจจับความปลอดภัย เพื่อส่งเสริมการใช้งาน AI ในภาครัฐและภาคธุรกิจ
  4. การพัฒนาบุคลากร: เร่งผลิตบุคลากร AI ระดับสูง พร้อมพัฒนาหลักสูตร AI ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม
  5. ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล: จัดตั้งกองทุนวิจัยพื้นฐาน AI ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศและอุทยาน AI และสร้างฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในระยะยาว

นอกจากนี้ยังมีการส่งมอบแผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ รับมอบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช เกตุ้ย ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สภาผู้แทนราษฎร

แผนการพัฒนานี้คาดว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่การเป็นสังคมที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีโอกาสในการพัฒนาและเติบโตในแวดวงปัญญาประดิษฐ์ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการนำประเทศไปสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย 2568-2573 (Thailand Artificial Intelligence Development Plan 2025-2030)

KKU and National AI Committee Unveil Ambitious AI Development Plan to Propel Thailand into the Future

https://www.kku.ac.th/18741

 

Scroll to Top