7 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดพิธี “ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับโรงเรียนเครือข่าย ประจำปีการศึกษา 2567” เพื่อพัฒนาโรงเรียนนวัตกรรมต้นแบบทางการศึกษา พิธีนี้จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Zoom โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิด และ รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวต้อนรับผู้บริหารและผู้แทนจากโรงเรียนเครือข่าย จำนวน 96 แห่ง ที่ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถานศึกษาในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโรงเรียนนวัตกรรมต้นแบบทางการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถและทักษะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ประธานในพิธี กล่าวเน้นย้ำถึงบทบาทของคณะศึกษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมอบหมายให้เป็นผู้นำในการยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านการศึกษาร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย เพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกในด้านคุณภาพของผู้เรียนและบุคลากรในโรงเรียน “คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะที่มีความเข้มแข็งและมีความเชี่ยวชาญทางด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยจึงได้มอบหมายให้ทําหน้าที่ในการให้บริการวิชาการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน การลงนามในวันนี้เป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนและส่งเสริมนวัตกรรมทางการศึกษา ร่วมสร้างผลลัพธ์เชิงบวกในด้านคุณภาพของผู้เรียนและครูประจำการให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด” รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวในพิธีกล่าวเปิด พร้อมอวยพรให้ความร่วมมือในครั้งนี้บรรลุเป้าหมายทุกประการ
รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร ได้กล่าวยินดีในโอกาสที่ได้ร่วมมือกับโรงเรียนเครือข่าย เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเน้นความสำคัญของการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือและแสดงความเชื่อมั่นว่า การลงนามในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ การวิจัย และนวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล “การลงนามในวันนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล” รศ.ดร.อิศรา กล่าว พร้อมขอบคุณอธิการบดี คณาจารย์ และผู้แทนจากโรงเรียนเครือข่ายทุกท่าน ที่ร่วมกันทำให้เกิดความร่วมมือที่มีคุณค่านี้
ความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญที่ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเครือข่าย แต่ยังส่งเสริมความพร้อมในการพัฒนาทักษะรอบด้านแก่ผู้เรียนและครู เพื่อสร้างมาตรฐานและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ นำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนในอนาคต
โรงเรียนเครือข่ายเลือกพัฒนานวัตกรรมต้นแบบใน 10 ด้านหลัก ได้แก่
• ต้นแบบด้านการเรียนรู้แบบสมาร์ท (Smart Learning)
• ต้นแบบด้านการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
• ต้นแบบด้านการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดเชิงคำนวณ Coding and AI
• ต้นแบบด้านการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC)
• ต้นแบบด้านประกันคุณภาพการศึกษา
• ต้นแบบด้านทักษะภาษาไทย (การอ่านออก เขียนได้ อ่านคล่อง เขียนคล่อง)
• ต้นแบบด้านการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดขั้นสูง
• ต้นแบบด้านการจัดการเรียนร้ทางคณิตศาสตร์ Open Approach and Lesson Study
• ต้นแบบด้านการบริหารการศึกษา
• ต้นแบบด้านการศึกษาพิเศษ