สำนักบริการวิชาการ มข. ร่วมถอดบทเรียน “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ก้าวสู่ปีที่ 9 พัฒนาแนวทางสู่ความยั่งยืนของชุมชน

          เมื่อวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2567 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.น.สพ.พงษ์ธร สุวรรณธาดา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมษ์ธาวิน พลโยธี คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และ นางสาวเสาวลักษณ์ ราชำ พร้อมด้วย ผู้แทนจากธนาคารออมสิน จังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมเวทีถอดบทเรียนโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ในกิจกรรม “การนำเสนอผลสัมฤทธิ์ของโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ระดับประเทศระดับประเทศ” ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยธนาคารออมสินร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศ เพื่อให้เยาวชนและนักศึกษาได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนจากการทำงานจริงในโครงการพัฒนาชุมชน โดยในปี 2567 นี้ มีสถาบันอุดมศึกษา 67 แห่ง และ ชุมชนกว่า 342 กลุ่ม  เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

          การถอดบทเรียนในครั้งนี้มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมได้วิเคราะห์และสะท้อนประสบการณ์จากการดำเนินโครงการ โดยผู้มีส่วนในโครงการที่เข้าร่วมได้นำเสนอผลงานพร้อมกับเล่าถึงความท้าทาย ปัญหา และวิธีการแก้ไขที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชน ทั้งนี้ การถอดบทเรียนดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่การสรุปผลงาน แต่ยังเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถแลกเปลี่ยนมุมมอง เรียนรู้จากความสำเร็จและข้อผิดพลาดของตนเองและผู้อื่น และค้นพบแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาชุมชนในระยะยาว

         กิจกรรมถอดบทเรียนแบ่งออกเป็นหลายส่วน ตั้งแต่การนำเสนอประสบการณ์จากทีมอาจารย์ที่ปรึกษาและสถาบันศึกษา การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ไปจนถึงการเสวนาระดมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาธุรกิจชุมชน ซึ่งได้ให้คำแนะนำเชิงลึกเกี่ยวกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่นักศึกษาเผชิญ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานร่วมกับชุมชนในอนาคต ครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน โดยอาศัยทรัพยากรและจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ นักศึกษาได้ใช้ทักษะในการคิดวิเคราะห์เพื่อปรับกลยุทธ์ในการทำงาน รวมถึงการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

ภาพจาก Facebook : ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

       โดยก่อนเริ่มกิจกรรมการถอดบทเรียนนั้นได้มีการการมอบรางวัล “Best of the Best” แก่ทีมที่มีผลงานโดดเด่นในด้านต่างๆ เพื่อเป็นการเชิดชูความสำเร็จและสร้างขวัญกำลังใจให้กับนักศึกษา รวมถึงการประกาศเกียรติคุณให้กับผู้แทนกลุ่มชุมชนที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและเป็นแรงบันดาลใจให้กับโครงการ

Scroll to Top