นศ.สถาปัตย์ คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบระดับประเทศ KUBOTA Boutique Design Contest “Your KUBOTA, Your Style”

นางสาวธัญญชนก กิ่งวงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวด KUBOTA Boutique Design Contest ภายใต้หัวข้อ “Your KUBOTA, Your Style” พร้อมรับทุนการศึกษามูลค่า 50,000 บาท ใบประกาศนียบัตร และเซ็ทของขวัญจาก KUBOTA Boutique Shop มูลค่า 2,000 บาท

การแข่งขันครั้งนี้ท้าทายผู้เข้าประกวดด้วยโจทย์การออกแบบผลิตภัณฑ์ 5 ชนิด ประกอบด้วย เสื้อโปโล เสื้อแขนยาว กระเป๋า หมวก และปลอกแขนกันแดด โดยต้องสอดแทรกแบรนด์ KUBOTA อย่างกลมกลืนในทุกชิ้นงาน ผู้เข้าประกวดมีอิสระในการเลือกใช้เทคนิคการสร้างสรรค์ผลงาน พร้อมนำเสนอแนวคิด วัสดุ และวิธีการผลิตที่สามารถนำไปผลิตได้จริง

นางสาวธัญญชนก เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบว่า “ผลงานนี้เกิดจากการมองเห็นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง Kubota กับภาคการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของแบรนด์ จึงได้ออกแบบลวดลายที่มีความเคลื่อนไหวและเชื่อมโยงกัน ผสมผสานความทันสมัยเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ และสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาที่ยั่งยืน” ความโดดเด่นของผลงานอยู่ที่การเลือกใช้วัสดุที่มีเอกลักษณ์ เช่น เส้นใยฟางข้าวและเส้นใยพรมที่แข็งแรง สร้าง Texture ที่น่าสนใจ ผสานกับการวิเคราะห์เทรนด์แฟชั่นร่วมสมัยที่สอดคล้องกับสไตล์ของ Kubota ทำให้คอลเลคชั่นมีความลงตัวทั้งด้านความสวยงามและการใช้งานจริง อีกทั้งยังมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนัษฎา จุลลัษเฐียร อาจารย์ที่ปรึกษา ก็มีส่วนสำคัญในการให้คำแนะนำด้านวัสดุการผลิตและการปรับลวดลายให้ทันสมัย ส่งผลให้ผลงานมีความโดดเด่นและได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการ

 

นอกจากรางวัลชนะเลิศยังยังมี นางสาวชัญญารัตน์ อุ่นสิม นักศึกษาจากคณะเดียวกัน ยังได้รับรางวัลชมเชยพร้อมทุนการศึกษามูลค่า 2,000 บาท และใบประกาศนียบัตร  และนักศึกษาอีก 5 คน คือ นางสาวกุลชรี จันทร์หอม , นางสาวชนัญญา ดังแก้วสี , นางสาวบัวแก้ว สุนา , นางสาวลภัสรดา กะระพันธุ์นิษฐ์ , นางสาวศิริรัตน์ ไทยทองหลาง สามารถผ่านเข้ารอบ 50 ทีมสุดท้าย สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในการสร้างสรรค์ผลงานที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการออกแบบและการใช้งานจริง

ความสำเร็จในครั้งนี้ไม่เพียงสร้างชื่อเสียงให้กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เท่านั้น แต่ยังเป็นการยืนยันถึงคุณภาพการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการออกแบบควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความต้องการของตลาดและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสู่วงการออกแบบของประเทศไทย

ข่าว : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ
ภาพประกอบ : นางสาวธัญญชนก กิ่งวงค์

Scroll to Top