จากที่มีการจัดงานมหกรรมการเกษตร ฟาร์มเอ็กซ์โป 2024 (FARM EXPO 2024) มหกรรมงานเกษตรในร่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ภายใต้ธีม REVOLUTIONISING FARM BUSINESS มีโซนแสดงนวัตกรรมกว่า 14 โซน และ 60 ไฮไลท์ รวมกว่า 300 บูธ ถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรในทุกมิติ สร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ พร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เกษตรกรไทย และภาคการเกษตรเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่าง 3 – 6 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น
โดย “โปรแกรมการประมาณความต้องการน้ำสำหรับไม้ผลเศรษฐกิจ” ผลงานของ รศ.ดร.สุภัทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา จากสาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นงานวิจัยดีเด่น 1 ใน 10 ชิ้น ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้คัดเลือก ให้จัดแสดงในงานอันทรงเกียรติครั้งนี้
รศ.ดร.สุภัทร์ เจ้าของผลงานวิจัย กล่าวถึงการนำผลงานเข้าร่วมจัดแสดงในงาน ว่า รู้สึกยินดี ที่ผลงานวิจัยของตนเองเป็น 1 ใน 10 ผลงานวิจัยชิ้นโบแดง ที่ถูกนำมาจัดแสดงครั้งนี้ เนื่องจากศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ดำเนินการคัดเลือกผลงานวิจัยจากสมาชิก 18 สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการนำผลงานมาร่วมจัดนิทรรศการครั้งนี้ เพื่อนำองค์ความรู้จากผลการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในการผลักดันผลไม้ไทยให้สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถขยายผลไปสู่การถ่ายทอดต้นแบบงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยได้รับความสนใจจากประชาชนที่เข้ามาเที่ยวชมงานเป็นจำนวนมาก
รศ.ดร.สุภัทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผล คือ ไม่ทราบว่าต้นไม้ผลต้องการน้ำปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ซึ่งปกติถ้าให้น้ำน้อยก็จะได้ผลผลิตน้อย แต่ในทางกลับกันถ้าให้น้ำมากเกินไป ก็ส่งให้ผลผลิตลดลงได้เช่นกัน เนื่องจากการให้น้ำเยอะส่งผลให้ธาตุอาหารหลายชนิดถูกชะล้างจากดินไป ทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มต้นทุนในการให้ปุ๋ยเพิ่มเนื่องจากให้น้ำมากเกินไป ตนจึงทำการวิจัยโปรแกรมการประมาณความต้องการน้ำสำหรับไม้ผลเศรษฐกิจ โดยได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปีงบประมาณ 2563 ทำให้เกษตรกรทราบปริมาณน้ำที่พืชต้องการ สามารถให้น้ำได้ตรงตามความต้องการของไม้ผล ช่วยทำให้ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพที่ดี ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานจากการให้น้ำมากเกินความต้องการของพืช และช่วยลดการละล้างปุ๋ยจากการให้น้ำเกิน ทำให้เกษตรกรให้น้ำได้ตรงตาม ความต้องการของไม้ผล ส่งผลให้มีผลผลิตดีทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ การจัดการน้ำในระดับ ที่เหมาะสมตามความต้องการของพืช คือ การให้น้ำชดเชยปริมาณน้ำที่สูญเสียไปจากพื้นที่ปลูกในไม้ผล เป็นการให้น้ำชดเชยการสูญเสียน้ำจากกระบวนการคายน้ำ (transpiration) ของไม้ผล และในปีงบประมาณ 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยด้านการจัดการน้ำตามความต้องการของทุเรียน ซึ่งจะพัฒนาโปรแกรมการประมาณความต้องการน้ำสำหรับทุเรียนต่อไป
รศ.ดร.สุภัทร์ กล่าวถึงการทดลองว่า สำหรับไม้ผลเศรษฐกิจที่ดำเนินการทดลอง มี 4 ชนิด ได้แก่ พุทรานมสด, ส้มโอทองดี, มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และกล้วยหอมทอง ส่วนหลักการทำงาน อัตราการคายน้ำมีความสัมพันธ์กับสภาพอากาศ จากเทคนิคการวัดอัตราการคายน้ำของไม้ผลด้วย xylem sap flow probe โดยใช้ค่าการขาดความดันไอน้ำในอากาศ (vapor pressure deficit, VPD) ซึ่งคำนวณจากอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ เป็นพารามิเตอร์ในการหาความสัมพันธ์กับอัตราการคายน้ำของไม้ผล ซึ่งขั้นตอนการใช้งานโปรแกรม มีดังนี้
– ทำการสุ่มวัดเส้นรอบวงลำต้นของไม้ผลในระดับสูงจากพื้นที่ดิน 30-50 เซนติเมตร จำนวน 10-15 ต้น ต่อแปลง ส่วนกล้วยใช้เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (ความกว้างระหว่างปลายใบสองด้าน) เป็นตัวแปรในการนำเข้าข้อมูลสำหรับโปรแกรม
– ทำการหาข้อมูลอุณหภูมิสูงสุด และความชื้นสัมพัทธ์ ต่ำสุดในรอบวัน จากโทรศัพท์ smart phone ที่มี แอปพลิเคชันสภาพอากาศ ซึ่งช่วงเวลาที่จะได้ข้อมูลเพื่อนำไปใส่ในโปรแกรมอยู่ในช่วง 13.00 – 15.00 น.
– นำข้อมูลมากรอกลงในโปรแกรมบนเว็บไซต์ https://www.doae.go.th/calculator/ โปรแกรมจะคำนวณปริมาณน้ำที่ไม้ผลแต่ละชนิดต้องการเป็นรายวัน หน่วยเป็น ลิตร/ต้น/วัน
ตัวอย่างการคำนวณความต้องการน้ำในส้มโอจากโปรแกรม ในกรณีส้มโอทองดีมีเส้นรอบวงลำต้นเท่ากับ 65 เซนติเมตร อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นการให้น้ำในวันรุ่งขึ้นควรให้น้ำแก่ส้มโอเท่ากับ 78 ลิตรต่อต้น เป็นต้น
รศ.ดร.สุภัทร์ กล่าวปิดท้ายถึงแผนในการพัฒนาต่อยอดหรือนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ว่า ปัจจุบันมีความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการพัฒนาโปรแกรมบนเว็บไซต์ https://www.doae.go.th/calculator/ และร่วมเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้น้ำให้กรมส่งเสริมการเกษตร และเป็นวิทยากรให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อบรมเรื่องการให้น้ำแก่ทุเรียน
ข่าวบทความ : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพประกอบ : เบญจมาภรณ์ มามุข / รศ.ดร.สุภัทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา จากสาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
KKU’s Innovative Research Shines at Farm Expo 2024