ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกับ สาขาวิชาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเทศกาลการแสดงหุ่นร่วมสมัยไทน้ำโขง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 12-13 ตุลาคม 2567 ภายใต้การดำเนินงานการจัด โครงการนวัตศิลป์อีสาน (ISAN Arts and Crafts Innovation) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ สร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักศึกษา เยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “เทศกาลหุ่นร่วมสมัยไทน้ำโขงเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับชาว มข. และชาวขอนแก่น ผ่านการรับชมการแสดงหุ่นจากศิลปินทั้งฝั่งไทย และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายศิลปิน-นักเชิดหุ่น มากถึง 10 คณะ” ความโดดเด่นของคณะหุ่นที่เข้าร่วมจัดแสดงในงานนี้ คือ
- การแสดงหุ่นแบบแผน (Traditional Puppet) อาทิ หุ่นหนังประโมทัยเรื่องสังข์ศิลป์ชัย จากคณะมีชัยหนังตะลุง การแสดงหุ่นกระบอกไทยเรื่อง มโนราห์ จากคณะบ้านตุ๊กตุ่นหุ่นกระบอกไทย ที่มีการผสมผสานกับเทคโนโลยีฉายภาพ เพื่อสร้างเทคนิคพิเศษประกอบการแสดง โดยเฉพาะฉากมโนราห์บูชายัญ สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ชมมากเป็นพิเศษ และการแสดงหุ่นละครเล็กผสมผสานกับการแสดงโขน โดยคณะหุ่นสีฐาน
- การแสดงหุ่นสร้างสรรค์ (creative puppet) เป็นการนำวัสดุต่าง ๆ มาสร้างสรรค์เป็นหุ่นละครหลากหลายรูปแบบ อาทิ คณะหุ่นข้าวเหนียวลาว จาก สปป.ลาว คณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดาที่จัดแสดงเรื่อง องค์คุลีมาล จากจังหวัดมหาสารคาม คณะหุ่นนวัตศิลป์มอดินแดงจาก ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแสดงเรื่อง สินไซ คณะหุ่นสินไซน้อยร้อยปี จากโรงเรียนบ้านสาวะถี (สาวัตถีราษฎร์รังสฤษฎิ์) จัดแสดงเรื่องสินไซ คณะหุ่นเงานิทานใบไม้จากจังหวัดสุรินทร์
- หุ่นร่วมสมัย (Contemporary Puppet) ได้แก่ คณะหุ่นกระบอกร่วมสมัย โดยคุณสุเมธ อบอุ่น และ 4. หุ่นเพื่อการพัฒนา เป็นการนำการแสดงหุ่นมาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพการสื่อสารสำหรับเยาวชนออทิสติก โดยหุ่นเงาออทิสติก-โฮงสินไซ ของสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จังหวัดขอนแก่น จัดแสดงเรื่องสินไซ
ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. กล่าวว่า “เทศกาลหุ่นเปิดโอกาสให้ผู้คนทุกวัย และหลากหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในเทศกาลทั้งในบทบาทของผู้เล่น-ผู้เชิดหุ่น และผู้ชม เพื่อสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมให้กับทุกคน เพราะการแสดงหุ่นเป็นภาษาสากลที่คนทุกกลุ่มสามารถรับรู้และเข้าถึงได้ในแบบเดียวกัน”
เชื่อว่าการแสดงหุ่นในเทศกาลครั้งนี้ได้สร้างความประทับใจ สร้างความอิ่มเอมใจ เติมพลังจินตนาการ และสร้างพลังปัญญาให้กับนักทำหุ่นตลอดจนผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์ โดยทีมผู้จัดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะขยายผลให้มีเทศกาลการแสดงหุ่นร่วมสมัยไทน้ำโขงครั้งต่อไป และระดมความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายจากหลากหลายแห่งมาร่วมกันหนุนเสริมเทศกาลให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
สำหรับรูปแบบกิจกรรมเทศกาลประกอบด้วย
- การเวิร์คชอปการสร้างหุ่นจากวัสดุธรรมชาติ โดยคณะหุ่นเงานิทานใบไม้
- สาธิตการเชิดหุ่นละครเล็ก จากคณะหุ่นสีฐาน และหุ่นกระบอกไทยของบ้านตุ๊กตุ่นหุ่นกระบอกไทย
- การจัดแสดงหุ่น
และ 4. การเสวนาของศิลปินในหัวข้อ “การแสดงหุ่นในฐานเครื่องมือเพื่อการพัฒนาผู้คน ชุมชน และวัฒนธรรมท้องถิ่น” ซึ่งบรรยากาศของเทศกาลอบอุ่นไปด้วยผู้ชมหลากหลายวัย ทั้งเด็ก เยาวชน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนที่เดินทางมาพักผ่อนบริเวณบึงสีฐาน ได้เข้าร่วมชมการแสดงหุ่นในเวทีต่าง ๆ ทั้งบริเวณบึงสีฐาน และคุ้มสีฐานอย่างต่อเนื่อง
สามารถชมภาพกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่นี่