หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแสดงผลงานสื่อทางการแพทย์ของนักศึกษาสาขาวิชาเวชนิทัศน์ Medical Illustration Exhibition 2024 ภายใต้แนวคิด “Level Up ก้าวไปอีกขั้นกับนิทรรศการสื่อทางการแพทย์” ระหว่างวันที่ 17 – 19 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 10.30 – 20.00 น. ณ ลานกิจกรรม (หน้า Uniqlo) ชั้น 1 เซ็นทรัล ขอนแก่น ประชาชนให้ความสนใจเข้าชมนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง
รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวส คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึง การจัดแสดงผลงาน ของนักศึกษาสาขาวิชาเวชนิทัศน์ ว่า การจัดแสดงผลงานของนักศึกษาฯ ครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อทางการแพทย์และสื่อสร้างสรรค์ทั่วไป ผลงานเหล่านี้เป็นการผสมผสาน ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และศิลปะ เพื่อสร้างสรรค์สื่อที่เน้นการใช้งานในด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยเน้นการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพให้เข้าถึงบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น มากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนี้ การจัดแสดงยังสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการเรียนการสอนของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเวชนิทัศน์ อีกทั้งยังแสดงถึงความสามารถของนักศึกษาได้อย่างชัดเจน การจัดนิทรรศการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเผยแพร่ผลงาน แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่เข้าร่วมชมนิทรรศการสนใจและพิจารณาการศึกษาต่อในสาขานี้ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในสังคมปัจจุบัน ผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้จากการแสดงผลงานและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต
ด้าน อ.ดร.แคน กอมณี ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดนิทรรศการแสดงผลงานสื่อทางการแพทย์ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ครั้งนี้ มีจำนวน 30 ผลงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชานิทรรศการและพิพิธภัณฑ์วิทยาทางการแพทย์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เป็นการนำผลงานในภาคปฏิบัติ จากวิชาต่าง ๆ เช่น การเขียนภาพทางการแพทย์ การถ่ายภาพทางการแพทย์ กราฟิกทางการแพทย์ สื่อประสม หุ่นจำลอง และสิ่งเลียนแบบทางการแพทย์ โทรทัศน์ศึกษาทางการแพทย์ ความรู้พื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีการศึกษาและสื่อการศึกษาอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการศึกษา ทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งการเรียนการสอนในสาขาวิชาเวชนิทัศน์ มีการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 5 ศาสตร์สำคัญ ประกอบไปด้วย ศาสตร์ทางด้านศิลปกรรม ศาสตร์ทางด้านสื่อดิจิทัล ศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยี ศาสตร์ทางด้านนิเทศศาสตร์ และศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้ การจัดนิทรรศการ แต่ละครั้ง เพื่อให้นักศึกษาได้ทดลองฝึกการจัดนิทรรศการ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์การทำงานร่วมกันเป็นทีม อีกทั้งเป็นการแนะแนวการศึกษาต่อสำหรับผู้สนใจที่จะเข้าศึกษาต่อ ในหลักสูตรนี้อีกด้วย
ส่วน นายสนธยา สาระภี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ ประธานโครงการจัดงานนิทรรศการแสดงผลงานสื่อทางการแพทย์ ประจำปี 2567 กล่าวว่า การจัดนิทรรศการสื่อการศึกษาทางการแพทย์ของนักศึกษาครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 27 เราจัดงานภายใต้แนวคิด “Level Up ก้าวไปอีกขั้นกับนิทรรศการสื่อทางการแพทย์” โดยมีการตั้งวัตถุประสงค์ของการจัดงานไว้ คือ เพื่อให้นักศึกษาได้มีทักษะประสบการณ์การฝึกปฏิบัติและการแก้ปัญหาการจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่เกี่ยวกับวิชาเรียนการผลิตสื่อทางการแพทย์ เพื่อสร้างความสามัคคีในการทำงานเป็นทีมของนักศึกษาฯ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานการผลิตสื่อทางการแพทย์ของนักศึกษาสาขาวิชาเวชนิทัศน์แก่บุคคลทั่วไป ได้รับรู้เป็นวงกว้าง และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ในการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ และได้รับการเอื้อเฟื้อสถานที่จากเซ็นทรัลขอนแก่น เป็นอย่างดี เชื่อมั่นว่า ผู้ที่เข้าชมนิทรรศการนี้จะได้รับความรู้จากนิทรรศการอย่างเต็มที่แน่นอน
และ นางสาวคณิตา เนาวโรจน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเวชนิทัศน์ 1 ใน 30 ผู้นำเสนอผลงาน กล่าวว่า ตนได้นำผลงานหุ่นจำลองการฝึกหัตถการฉีดยาระงับความรู้สึกรอบเส้นประสาทบริเวณขาของม้า หรือ Equine limb Model for Perineural Nerve Block Training เป็นโปรเจกต์จบการศึกษา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาด้านเนื้อหา คือ ผศ.น.สพ.ดร.สุชาติ วัฒนชัย ด้านเทคนิค คือ อ.ดร.แคน กอมณี รวมถึง อ.ประจำรายวิชา คือ รศ.ดุษฎี มุสิกโปดก และ อ.ดร.ปิยนัส สุดี มาจัดแสดง สำหรับหุ่นจำลองการฝึกหัตถการฯ จะนำไปใช้ในการทำหัตถการฉีดยาชาระงับความรู้สึกรอบเส้นประสาทบริเวณขาของม้าของนักศึกษา สัตวแพทย์ชั้นปีที่ 5 โดยปกติ จะนำซากขาม้ามาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้ซ้ำ โปรเจกต์นี้ช่วยตอบโจทย์ปัญหาการใช้ทรัพยากรซ้ำได้หลายครั้ง ทำให้ประหยัดทรัพยากร ที่สำคัญนักศึกษาสัตวแพทย์ได้รับประสบการณ์จากการฉีดยาชาซ้ำในแต่ละครั้งได้ เป็นผลทำให้มีทักษะและความมั่นใจ เพิ่มมากขึ้นก่อนเริ่มปฏิบัติกับม้าจริง ทั้งนี้ ผลงานหุ่นจำลองการฝึกหัตถการฯ ผ่านการประเมินโปรเจกต์เรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการส่งต่อเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนต่อไป
ทั้งนี้ผู้สนใจ สามารถติดตามข้อมูลของสาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/30thMDI?locale=th_TH
ลิงก์ภาพกิจกรรม https://drive.google.com/drive/folders/19e2krT6UrNAfLHvJZbhVRlpYhFul2UOj
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : เบญจมาภรณ์ มามุข / เวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น