นักวิจัย มข. นำเสนองานวิจัยด้าน AI ร่วมกับ Imperial College London ต่อรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรฯ

นักวิจัย มข. นำเสนอผลงานวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ Imperial College London ต่อรัฐมนตรีแคธเทอรีน เวสต์ แห่งรัฐสภาสหราชอาณาจักรฯ

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา บริติช เคานซิลประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้อนรับท่านแคธเทอรีน เวสต์ รัฐมนตรีด้านกิจการอินโด-แปซิฟิก และจัดการประชุมทวิภาคี เพื่อหารือด้านการขับเคลื่อนและสนับสนุนงานวิทยาศาสตร์และวิจัยสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยของทั้งสองประเทศ ซึ่งถือเป็นการเน้นย้ำถึงความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในด้านการขับเคลื่อนอุดมศึกษา และวิทยาศาสตร์ ระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรฯ

ในการนี้ คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.จุฑารพ เพชระบูรณิน สังกัดคณะแพทยศาสตร์ และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการทำงานวิจัยและการบริการวิชาการทางด้านฟีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์ ดร. หม่อมหลวงมานิดา ศุขสวัสดิ สังกัดวิทยาลัยนานาชาติ และกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการโครงการขับเคลื่อนการทำงานวิจัยและการบริการวิชาการทางด้านฟีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคุณธีรยุทธ บุบผามาลา นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรชีวเคมีทางการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล ได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนคณะนักวิจัยโครงการร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ Imperial College London ที่ได้รับการสนับสนุนโดย British Council ภายใต้ Research Environments Scheme เรื่อง ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสุขภาพระดับบุคคลสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลเปิดการแพทย์ฟีโนมิกส์เพื่อการวิจัย พัฒนา และการสร้างนวัตกรรมในประเทศไทย (Personal Health AI for Phenomic Medicine Open Data Infrastructure for Research, Development and Innovation in Thailand) ที่ได้ร่วมดำเนินโครงการกับ Associate Professor Dr. Jia Li พร้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชา เช่น ฟีโนมิกส์ วิทยาศาสตร์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ จากสถาบัน Imperial College London ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหราชอาณาจักรฯ และของโลก โดยในปีนี้ Imperial College London ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจาก Massachusetts Institute of Technology สหรัฐอเมริกา โดย QS World University Rankings

โครงการวิจัยร่วมนี้ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างสองมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและสหราชอาณาจักรฯและสะท้อนถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์และการแพทย์ฟีโนมิกส์ในการพัฒนางานวิจัยและการดูแลสุขภาพในประเทศไทย

Scroll to Top