คณะสถาปัตย์ มข.ภูมิใจ นักศึกษาคว้ารางวัลในการประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากใบหญ้าแฝก

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอแสดงความยินดีกับ นางสาวชื่นกมล พลพันธ์ขาง นักศึกษาชั้นปีที่ 3  สาขาวิชาการออกแบบ ได้รับรางวัลชมเชย โล่องค์กรร่วมจัด ประเภทนักศึกษา จากการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2566 – 2567 ในประเภทส่งเสริมผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากใบหญ้าแฝก เข้ารับรางวัลวันที่ 12 กันยายน 2567 ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรุงเทพมหานคร

การประกวดครั้งนี้จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีเงินรางวัลรวมมูลค่า 216,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน

ผลงานของนางสาวชื่นกมล พลพันธ์ขาง  ที่ได้รับรางวัล คือ ปิ่นโตห่อข้าวที่มีชื่อว่า “กกิน” อ่านว่า กะกิน  ซึ่งมาจากภาษาอีสาน แปลว่า “ห่อไว้เพื่อที่จะนำมารับประทาน” ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นด้วยการออกแบบที่ผสมผสานความเรียบง่ายและความสวยงาม โดยใช้เชือกหญ้าแฝกถักเป็นลวดลายก้นหอย ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากลายมรดกโลกไหบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และใช้ผ้าฝ้ายย้อมครามของชุมชนในพื้นในการทำสายหิ้ว เพื่อความสะดวกในการพกพา  ภายใต้มาตรฐานการแข่งขันที่เข้มงวด กรรมการได้คัดเลือกจากหลักเกณฑ์หลายประการ เช่น การใช้วัสดุในท้องถิ่น การมีประโยชน์ใช้สอย และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยน.ส.ชื่นกมล ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการออกแบบและผลิตผลงานที่มีคุณภาพ  ซึ่งนำไปสู่การได้รับรางวัลและการเป็นตัวแทนในการส่งเสริมหัตถกรรมทั่วประเทศ

การประกวดครั้งนี้มีกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น โดยผู้เข้าประกวดจะได้รับการติดต่อโดยตรงจากทีมงานประกวด และเข้าสู่การสัมภาษณ์รอบแรก ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาจากการใช้หญ้าแฝกเป็นวัสดุหลัก ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้งานได้จริง หลังจากนั้น ผู้ผ่านเข้ารอบจะมีเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่งในการผลิตผลงานจริง ก่อนจะเข้าสู่การสัมภาษณ์รอบสุดท้าย  และพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามคำแนะนำจากคณะกรรมการนำมาปรับปรุงผลงานให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการเชื่อมโยงกับชุมชน

ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องขอขอบพระคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนสิทธิ์ จันทะรี อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ที่มีส่วนสำคัญในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกแบบลวดลายและเทคนิคการผลิต รวมถึงการจัดหาวัสดุหญ้าแฝกสำหรับการทำงาน ทั้งนี้ทางคณะฯ ชื่นชมต่อความสำเร็จและหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาคนอื่น ๆ ได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของสังคมต่อไป ผลงาน “กกิน” นี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงความสามารถของนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริอีกด้วย

ข่าว : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ
ภาพประกอบ : นางสาวชื่นกมล พลพันธ์ขาง และ ผู้จัดงานประกวด
สนับสนุนข้อมูล : ผศ.ชลวุฒิ พรหมสาขา ณ สกลนคร

Scroll to Top