ต้นแบบแบตเตอรี่สำหรับรถถัง และ แผ่นคอมพอสิทสำหรับปะซ่อมยานพาหนะ 2 งานวิจัย มข. คว้ารางวัล จากเวที ประกวดผลงานวิจัยและหน่วยงานวิจัยดีเด่นกองทัพบก ประจำปี 2567

คณะนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และ โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้า 2 รางวัล จากผลงานต้นแบบแบตเตอรี่สำหรับรถถัง และ แผ่นคอมพอสิทสำหรับปะซ่อมยานพาหนะ ในกิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทางทหารของกองทัพบก ประจำปี 2567 ณ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา


     โดยการประกวดผลงานวิจัยดีเด่นกองทัพบก ประจำปี 2567 มีวัตถุประสงค์ เพื่อคัดเลือกผลงานวิจัยดีเด่น ที่นักวิจัยจากหน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ดำเนินการภายใต้โครงการหรือชุดโครงการร่วมกับกองทัพบก เพื่อชมเชยและเชิดชูเกียรติผลงานดังกล่าว ส่งเสริม/สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งเป็นขวัญและกำลังใจให้กับนักวิจัย ซึ่งแบ่งการประกวดออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) ด้านยุทโธปกรณ์ และ 2) ด้านหลักการ ในการประกวดครั้งนี้มีผลงานเข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้นจำนวน 20 ผลงาน

“โครงการวิจัยชุดแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนสำหรับการใช้งานในรถถังรุ่น VT 4 และ รถถังเบารุ่น Commando Stingray” สามารถคว้ารางวัล ผลงานวิจัยดีเด่น ด้านยุทโธปกรณ์ อันดับที่ 3
“โครงการวิจัยชุดแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนสำหรับการใช้งานในรถถังรุ่น VT 4 และ รถถังเบารุ่น Commando Stingray”  ผลงานวิจัยดีเด่น ด้านยุทโธปกรณ์ อันดับที่ 3

     เป็นที่น่ายินดีว่าผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่อง “โครงการวิจัยชุดแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนสำหรับการใช้งานในรถถังรุ่น VT 4 และ รถถังเบารุ่น Commando Stingray” สามารถคว้ารางวัล ผลงานวิจัยดีเด่น ด้านยุทโธปกรณ์ อันดับที่ 3 ซึ่งโครงการดังกล่าวมี รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผศ.ดร.ธนูสิทธิ์ บุรินทร์ประโคน และ อ.ดร. ทรงยุทธ แก้วมาลา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะนักวิจัยจากโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ นำโดย ดร.นรินทร วิริยะ และดร.รัตติยา หงษ์ทอง เป็นผู้ดำเนินงาน ร่วมกับหน่วยใช้ คือ กองพันทหารม้าที่ 6 กรมทหารม้าที่ 6 ค่ายศรีพัชรินทรฯ จังหวัดขอนแก่น สำหรับโครงการนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และ อยู่ระหว่างการขยายผลทดสอบความปลอดภัยภายใต้สภาวะแวดล้อมทางการทหารให้เป็นไปตามมาตรฐานของกองทัพบก

“โครงการแผ่นคอมพอสิทปะซ่อมชนิดใหม่โดยการเชื่อมด้วยตนเองสำหรับพื้นผิวที่มีรอยแตกของยานพาหนะทางการทหาร” รางวัลงานวิจัยดีเด่น ด้านหลักการ อันดับที่ 2
 “โครงการแผ่นคอมพอสิทปะซ่อมชนิดใหม่โดยการเชื่อมด้วยตนเองสำหรับพื้นผิวที่มีรอยแตกของยานพาหนะทางการทหาร” รางวัลงานวิจัยดีเด่น ด้านหลักการ อันดับที่ 2

     และอีกความสำเร็จที่สามารถคว้า รางวัลงานวิจัยดีเด่น ด้านหลักการ อันดับที่ 2 คือ ผลงานวิจัยเรื่อง “โครงการแผ่นคอมพอสิทปะซ่อมชนิดใหม่โดยการเชื่อมด้วยตนเองสำหรับพื้นผิวที่มีรอยแตกของยานพาหนะทางการทหาร”  ซึ่งมี รศ.ดร. พรนภา เกษมศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ศ.ดร.ปริญญา จินดาประเสริฐ  อ.ดร.นฤเบศ หล่อวณิชไพศาล  อ.ดร.ณัฏฐ์วัฒน์ ศรีขาว (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) และ ผศ.ดร.อุไรวรรณ พงสา (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์) เป็นผู้ดำเนินงาน ร่วมกับหน่วยใช้ คือ กองส่งกำลังบำรุงมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น โดยผลงานวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

     นอกจากนี้โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้รับคัดเลือกให้นำผลงานไปร่วมจัดนิทรรศการ และ ได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆของกองทัพที่มีความต้องการใช้แบตเตอรี่เป็นอย่างมาก (“โครงการพัฒนาชุดแบตเตอรี่ลิเทียมไออน สำหรับรถถัง VT4 และ Commando Stingrays” ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สป.อว. ปี 65 โดยดำเนินการภายใต้ศักยภาพโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ของมหาวิทยาลัยได้เอง)


     ทั้งนี้ การประกวดผลงานวิจัยดีเด่นกองทัพบก ประจำปี 2567 มีการพิจารณาคัดเลือกผลงาน ดำเนินการโดย คณะกรรมการพิจารณาผลงานวิจัยและหน่วยวิจัยดีเด่นประจำปีกองทัพบก (กผด.ทบ.) ซึ่งมี พล.ต. ระวี ตั้งพิทักษ์กุล ผอ.สวพ.ทบ. เป็นประธาน ผลงานที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรก (แต่ละกลุ่ม) ได้รับเงินรางวัล เกียรติบัตร และโล่เกียรติยศ จากกองทัพบก เพื่อเป็นเกียรติประวัติของนักวิจัยเจ้าของผลงานต่อไป

ข่าว :  เบญจมาภรณ์  มามุข
ข้อมูล : โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่

โครงการแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับรถถัง VT4 และ Stingrays
https://youtu.be/SLGFfuBemrE?list=PLuIte5e3sKWxm1RhfoVI2eBybvs8ozF-T

Scroll to Top