8 สิงหาคม 2567 – โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร.ศราวุธ จักรเป็ง รองคณบดีฝ่ายโรงเรียนสาธิตและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา และรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยคณาจารย์ และนักเรียน ร่วมใน งานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 “จรณทักษะจำเป็นสำหรับอนาคต” The 9th Satit Academic Fair “Essential Soft Skills for the Future” โดยมีพิธีเปิด ณ ห้องพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วยปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “จรณทักษะจำเป็นสำหรับอนาคต”
กิจกรรมภายในงานยังได้มีปาฐภาพิเศษ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ ผู้รักษาการรองอธิการบดีและคณบดีคณะครุศาสตร์ ในหัวข้อ “ความสำคัญขอจรณทักษะกับการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม” และ “ความสำคัญของจรณทักษะกับการศึกษา” ตามลำดับ การเสวนาในหัวข้อ “Soft Skills in School” และมีการแสดงของนักเรียนในชื่อชุด “Combination of Cultures” และ “สาธิตจุฬาฯ ม่วนซื่น” อีกทั้งมีนิทรรศการงานสาธิตวิชาการจาก 13 โรงเรียนสาธิตสังกัดสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมไปถึงการแข่งขันทักษะในด้านต่างๆ โดยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่งนักเรียนกว่า 82 คน เข้าร่วมแข่งขันในทุกกิจกรรม
ผศ.ดร.ศราวุธ กล่าวว่า งานครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้นำเสนอผลงานและเรียนรู้จากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ จรณทักษะ หรือ Soft skill ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำรงชีวิตในยุคดิจิทัล
สำหรับสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 นี้ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพ ภายใต้แนวคิด “จรณทักษะจำเป็นสำหรับอนาคต” (Essential Soft Skills for the Future) เป็นทักษะที่สำคัญเกี่ยวกับอารมณ์ อุปนิสัย ความคิด การจัดการตนเองที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบันและในอนาคตดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย ความฉลาดรู้ทางดิจิทัล (Digital Literacy) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ความฉลาดทางอารมณ์และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Emotional Intelligence (EQ) and Empathy) ความฉลาดทางวัฒนธรรมและความหลากหลาย (Cultural Intelligence and Diversity Consciousness) ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship skills) ยอมรับและเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลง (Embracing and Celebrating Change) การทำงานร่วมกันและการทำงานเป็นทีม (Collaboration and Teamwork) ความเป็นผู้นำ(Leadership) ความสงสัยใคร่รู้และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Curiosity and Continuous Learning) การคิดเชิงวิพากษ์(Critical Thinking) การตัดสินใจเชิงซับซ้อน(Complex Decision Making and Judgment) การสื่อสาร(Interpersonal Communication Skills) ความตระหนักทางจริยธรรม(Ethical Awareness) การดูแลตนเอง(Looking After Yourself) การเรียนรู้ตลอดชีวิต(Lifelong Learning) ความสามารถในการปรับตัว และความยืดหยุ่น (Adaptability and Flexibility) การจัดการส่วนบุคคล และเครือข่าย (Managing Personal Brand and networking) การจัดการเวลา(Time Management)
“สาธิตวิชาการ” มีเป้าหมายในการจัดงานเพื่อเผยแพร่นวัตกรรมทาง การศึกษาการสร้าง ความร่วมมือทางวิชาการ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ด้านวิชาการและประสบการณ์ด้านการศึกษาแบบครบวงจร ระหว่างกลุ่มโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศในรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงาน การนำเสนอผลงานวิจัย ทางวิชาการ การสร้างและพัฒนาการเรียนการสอนและนวัตกรรม ทางการศึกษา การเสวนาทางวิชาการ และการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และอีกหนึ่งเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา นักเรียน ที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้นำความรู้ และนวัตกรรมต่างๆ ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมนำมาต่อยอดและพัฒนาการจัดการการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป