มูเตลู : มิติของความเชื่อกับการท่องเที่ยวเชิงประเพณีและวัฒนธรรม

เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวหลายคนอาจนึกถึงการเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ ๆ การพักผ่อนที่โรงแรมหรู หรือการชมธรรมชาติที่สวยงาม แต่ยังมีมิติหนึ่งของการท่องเที่ยวที่น่าสนใจและเปี่ยมไปด้วยความลึกลับน่าค้นหา นั่นคือการท่องเที่ยวเชิงประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางจิตวิญญาณและพิธีกรรมต่าง ๆ ในท้องถิ่น หนึ่งในนั้นคือ “มูเตลู” ความเชื่อที่ลึกซึ้งและพิธีกรรมที่น่าหลงใหลที่ถักทอเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในหลายชุมชน ทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมโยงประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน มาร่วมค้นหามิติของมูเตลูและสัมผัสความงดงามของการท่องเที่ยวเชิงประเพณีและวัฒนธรรมไปพร้อมกับ ดร.ริณา ทองธรรมชาติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผ่านบทความนี้ไปด้วยกัน

(ภาพที่ 1 : ดร.ริณา ทองธรรมชาติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

ความหมายและมิติของความเชื่อใน “มูเตลู”

“มูเตลู” คือ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ เรื่องลี้ลับ ของขลัง ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ การดูไพ่ การเสริมดวงและโชคชะตา การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในปัจจุบัน “มูเตลู” เป็นการหลอมรวมความเชื่อพุทธ พราหมณ์ การนับถือผี และสิ่งเร้นลับเข้าด้วยกัน และกลายเป็นความเชื่อที่เสริมกำลังใจผู้นับถือบูชาให้สมหวังในสิ่งที่มุ่งหวัง เช่น มูเตลูด้านการงาน การเงิน และความรัก (ThaiPBS, 2566)

โดยความเชื่อในมูเตลูมีรากฐานมาจากความศรัทธาในวิญญาณของบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ถูกนับถือในท้องถิ่น อาทิ ผีบ้าน ผีเรือน และผีฟ้า การปฏิบัติตามความเชื่อเหล่านี้มักจะมีพิธีกรรมและประเพณีที่เข้มงวด เช่น พิธีสู่ขวัญ พิธีไหว้ครู พิธีแห่นางแมว และบุญบั้งไฟ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงถึงความศรัทธา แต่ยังเป็นวิธีการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย

(ภาพที่ 2 : ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร. ราชกิจ กรรณิกา, 2562)

ดังนั้นคำว่า “มูเตลู” นำมาอธิบายกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่ไม่ได้เคร่งทางศาสนา และในปัจจุบันการมูเตลูถูกมองผ่านเครื่องประดับหรือเครื่องรางของขลังทั้ง พระเครื่อง หินสี สร้อยข้อมือมงคล นอกจากนี้ยังมีการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พราหมณ์ พญานาค พระพิฆเนศ รวมถึงผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การทำบุญ การไหว้พระ การสวดมนต์ หรือแม้กระทั่งการดูไพ่ยิปซี ภาพหน้าจอโทรศัพท์มือถือที่เป็นรูปเทพต่าง ๆ  หรือกิจกรรมที่ทำแล้วสบายใจ ไม่เครียด เข้าถึงง่ายและเหมือนแฟชั่นหรือการตามเทรนด์ แทนการเข้าวัดหรือสถานที่ทางศาสนานั่นเอง

(ภาพที่ 3 : การดูไพ่ยิปซี. สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 2566)

มูเตลูกับการท่องเที่ยวเชิงประเพณีและวัฒนธรรม

Paranormal Tourism หรือ การท่องเที่ยวเกี่ยวกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นการเยี่ยมชมสถานที่ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับผี วิญญาณ หรือปรากฏการณ์ลี้ลับต่าง ๆ นักท่องเที่ยวที่สนใจในรูปแบบการท่องเที่ยวลักษณะนี้ ต้องการสัมผัสหรือเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวและตำนานที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ต่าง ๆ เหล่านั้น

ในประเทศไทยมีการท่องเที่ยวเกี่ยวกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติอยู่ทุกพื้นที่ทุกจังหวัด โดยเป็นการเข้าร่วมพิธีกรรมและการบูชา เช่น การไหว้พระ การทำบุญ การสวดมนต์ การขอพรจากพระพิฆเนศ เจ้าแม่กวนอิม หรือพญานาค รวมถึงการเยี่ยมชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น วัดที่มีชื่อเสียง พระธาตุที่สำคัญ ศาลเจ้าที่คนท้องถิ่นนับถือ สถานที่ที่มีตำนานหรือเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเรียนรู้และปฏิบัติตามความเชื่อท้องถิ่น เช่น การใช้เครื่องรางของขลัง การเข้าร่วมพิธีกรรมตามประเพณีท้องถิ่น การซื้อวัตถุมงคลและของที่ระลึกที่มีความหมายในเชิงศาสนาและไสยศาสตร์ และการสัมผัสกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น งานประเพณีท้องถิ่น การแสดงศิลปวัฒนธรรม การรับประทานอาหารท้องถิ่น

โดยพื้นที่ภาคอีสานสามารถอธิบายภาพการท่องเที่ยวเชิงการมูเตลูได้อย่างชัดเจน หรือเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ Destination of Mutelu ที่มีความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ที่สอดคล้องกับประเพณี วัฒนธรรม วันสำคัญทางศาสนา และความเชื่อของชุมชนท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่า ฮีต 12 คลอง 14 ซึ่งกิจกรรมหรือประเพณีวัฒนธรรมแต่ละเดือนของภาคอีสานมีความน่าสนใจเชิงการท่องเที่ยวในรูปแบบของการมูเตลู ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม สักการะ หรือร่วมพิธีกรรมได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นเมื่อมีการเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ จึงสะท้อนให้เห็นถึงการมีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่การเดินทาง การกิน การนอน การทำบุญ และการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานที่นั้น ๆ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมูลค่าจำนวนมาก และการที่มีความเชื่อคล้ายคลึงกัน ยังส่งผลให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดใกล้เคียง อาทิ เชื่อในเรื่องพญานาค สถานท่องเที่ยว เช่น วัดศิริสุทโธ (คำชะโนด) จ.อุดรธานี ถ้ำนาคา จ.บึงกาฬ วัดถ้ำศรีมงคล จ.หนองคาย และวัดถ้ำผาแด่น จังหวัดสกลนคร อีกทั้งเกิดเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวเกี่ยวกับการมูเตลู เช่น วัดศิริสุทโธ (คำชะโนด) ต่อด้วย วัดป่าภูก้อน หรือต่อด้วยวัดผาตากเสื้อ การท่องเที่ยวเชิงมูเตลูไม่เพียงแค่ส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนหรือพื้นที่โดยรอบในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การขายสินค้าท้องถิ่น คาเฟ่ การจัดแสดงศิลปะและวัฒนธรรม การให้บริการที่พักและอาหารแบบท้องถิ่น เป็นต้น

(ภาพที่ 4 : ไหว้พญานาคราชปู่ศรีสุทโธและองค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี ณ วัดศิริสุทโธ คำชะโนด จังหวัดอุดรธาณี. ปิ่น บุตรี, 2564)

การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประเพณีและวัฒนธรรมผ่านมูเตลู

แนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงประเพณีและวัฒนธรรมผ่านการมูเตลูจะมีเพิ่มขึ้น แต่อาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบตามความนิยมในช่วงนั้น ๆ นอกจากนี้ยังมีแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นรูปแบบของการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมและพิธีกรรมทางศาสนาและงานประเพณี เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมและมีประสบการณ์ตรงในการทำกิจกรรมหรือพิธีกรรมนั้น ๆ

อีกทั้งมีการจัดอบรมเกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมของมูเตลู เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และเข้าใจถึงความหมายและความสำคัญของประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยการจัดทัวร์เยี่ยมชมชุมชนและสถานที่ท้องถิ่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวรวมถึงสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

ในปัจจุบันนี้การส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียในการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับมูเตลู เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการสร้างแคมเปญการตลาด อาทิ การโปรโมททัวร์เส้นทางมูเตลู การจัดโปรโมชั่นและแพ็คเกจท่องเที่ยวพิเศษ เป็นต้น

นอกจากนี้ หากจะยกตัวอย่างเพื่อเป็น Role Model ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประเพณีและวัฒนธรรมผ่านการมูเตลู คือ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีขบวนแกะสลักเทียนอย่างสวยงามตระการตา โดยมีความเชื่อว่าการถวายเทียนพรรษาเป็นการเพิ่มพูนความสว่างไสวและความโชคดีให้กับชีวิตตนเอง ซึ่งประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาต่างได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นมาจากกระแสในโซเชียลมีเดียจนเกิดการบอกต่อทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมกิจกรรมมากมายและเกิดการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้การสนุบสนุประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จนทำให้เกิดเป็น Event งานประจำปีของจังหวัด และแน่นอนเมื่อมีนักท่องเที่ยวย่อมเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนตามลักษณะข้างต้นที่กล่าวถึงการกระจายรายได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางนั่นเอง

(ภาพที่ 5 : ประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี. PPTV Online, 2566)

แม้ว่าการมูเตลูกับการท่องเที่ยวเชิงประเพณีและวัฒนธรรมจะมีประโยชน์ แต่ก็มีความท้าทายที่ต้องเผชิญ ทั้งการรักษาความเชื่อและประเพณีให้คงอยู่โดยไม่ถูกบิดเบือน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ท่องเที่ยว และการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการมูเตลู สิ่งเหล่านี้จึงเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีคุณค่าในทุกมิติ และเป็นการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก :

ThaiPBS. (2566). Soft Power สาย “มูเตลู” ดันเศรษฐกิจไทยกระฉูด 10,800 ล้าน. เข้าถึงจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/330701/ สืบค้น 15 กรกฎาคม 2567

ราชกิจ กรรณิกา. (2562). ไม่ระบุ. เข้าถึงจาก  https://www.facebook.com/photo/?fbid=10217026345905142&set=a.1779882251152/ สืบค้น 16 กรกฎาคม 2567

สำนักข่าวอินโฟเควสท์. (2566). ธุรกิจสายมู บูม! ขึ้นแท่นดาวเด่น รายได้พุ่ง. เข้าถึงจากhttps://www.infoquest.co.th/2023/280137/ สืบค้น 16 กรกฎาคม 2567

ปิ่น บุตรี. (2564). ไหว้ “คำชะโนด-พระใส” เที่ยวมิติใหม่ “อุดร-หนองคาย” ในแบบ “Happy Model”. เข้าถึงจาก https://mgronline.com/travel/detail/9640000128541/ สืบค้น 17 กรกฎาคม 2567

PPTV Online. (2566). “แห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี” ประเพณีเก่าแก่กว่าร้อยปี เอกลักษณ์ประจำแดนอีสาน. เข้าถึงจาก https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/202063/ สืบค้น 17 กรกฎาคม 2567

เขียน/เรียบเรียงโดย : บรรพต พิลาพันธ์
นักประชาสัมพันธ์ ภารกิจด้านวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Scroll to Top