เครื่องหนังวีแกนลดโลกร้อน มข. วิจัยผลิตเครื่องหนังจากมะม่วง จากของเสียสู่ของสวย Zero Waste

มะม่วงของประเทศไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ เนื่องจากมีรสชาติดี สีสวย โดยผลผลิตส่วนใหญ่ 96% ใช้บริโภคภายในประเทศ ส่วนปริมาณการส่งออกมีเพียง 2.3% ( การผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก , กรมส่งเสริมการเกษตร2565-2567) เนื่องจากมะม่วงมักประสบปัญหาด้านคุณภาพของการผลิต อาทิ ผลผลิตถูกทำลายจากศัตตรูพืช ผิวผลบาง ทำให้เน่าเสียง่ายและไม่ทนทานต่อการขนส่ง และอายุการเก็บรักษาสั้น ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องปรับและพัฒนาผลผลิตเพื่อให้ตรงตามมาตรฐาน GDPถึงอย่างไรก็ยังมีผลผลิตที่เสียทิ้งจากการเกษตร

นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาลัยนานาชาติ  จึงดำเนินโครงการเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ภายใต้การสนับสนุนนโยบายรัฐ โดยการนำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อหาทางนำผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐานมาสร้างมูลค่า ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และชนิดสินค้า ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และการขยายช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น 

รองศาสตราจารย์พรนภา เกษมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาสาขาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ เผยว่า ทีมวิจัยได้นำความเชี่ยวชาญทางด้านวัสดุศาสตร์ในการสร้างมูลค่าจากผลมะม่วงที่ไม่ผ่านมาตรฐานด้วยการผลิตเป็นเครื่องหนังชีวภาพ สร้างเครื่องหนังจากพืชหรือที่เรียกว่าหนังชีวภาพขึ้นมาทดแทนการฆ่าสัตว์เพื่อทำเครื่องหนัง

“ความคาดหวังก็คืออยากจะเห็นการเอาพวกวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือของที่ไม่มีมูลค่า เราสามารถผันเปลี่ยนให้มันเป็นของที่ใช้งานได้ มีมูลค่าแล้วก็ต่อยอดเข้าไปสู่อุตสาหกรรมได้ โดยอายุการใช้งานคงทนแข็งแรงไม่ต่างจากเครื่องหนังจากสัตว์”

ปัจจุบันต้นทุนในการผลิตหนังจากเยื้อของมะม่วงตกเกรดนั้นยังมีต้นทุนสูง เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่แผ่หลาย ทั้งยังใช้อุปกรณ์ที่ซับซ้อนราคาสูง  แต่เชื่อว่าหากไม่หยุดคิดค้นพัฒนา และมีผู้บริโภคสนับสนุนจะสามารถลดต้นทุนได้ ลดโลกร้อนได้ในอนาคต

โครงการดังกล่าวใช้เวลากว่าหนึ่งปีในการคิดค้นสูตรที่ลงตัวเพราะอุปสรรคในการเข้าถึงเครื่องมือแต่ท้ายที่สุดก็สามารถผลิตหนังชีวภาพและเกิดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องหนังได้สำเร็จ พร้อมกันนี้ร.ศ.พรนภา เกษมศิริยังมีความต้องการที่จะส่งเสริมและผลักดันให้เกิดนักวิจัยรุ่นใหม่ผ่านการทำวิจัยร่วมกันในรั้วมข.สู่ระดับสังคม

“การที่เราไปได้ในทุกๆ วันนี้มันเกิดจากการที่เราได้รับการซัพพอร์ตจากคนอื่น ทุกอย่างมันเกิดมาจากการที่นักศึกษาซัพพอร์ตเรา อาจารย์หลายๆ ท่าน ศูนย์วิจัยหลายๆ ท่านที่เราทํางานด้วยกันซัพพอร์ตกัน”

ผลิตภัณฑ์หนังชีวภาพจากผลมะม่วงเป็นวิธีหนึ่งในการตอบโจทย์แนวคิด zero waste ในอนาคต อย่างไรก็ตามมะม่วงเป็นเพียงหนึ่งในผลิตผลทางการเกษตรเท่านั้น ขณะที่อุตสาหกรรมการเกษตรเติบโตขึ้นทุกวันเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ เส้นทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้ยังต้องการนักวิจัยรุ่นใหม่อีกมากมายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างยั่งยืน

Scroll to Top