มข. พื้นที่ปลอดภัยของ LGBTQ+ “Proud to be Pride” ร่วมฉลอง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ร่วมกับภาคีเครือข่าย สภานักศึกษา องค์กรนักศึกษา สโมสรนักศึกษาคณะต่าง ๆ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กองพัฒนานักศึกษา  ศูนย์เพศภาวะศึกษา และเครือข่ายผู้สนับสนุนอื่น ๆ จัดโครงการ Isaan pride 2024 ภายใต้ธีม “Proud  to be Pride” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างการตระหนักรู้เรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อเป็นพื้นที่ในการแสดงออก และแลกเปลี่ยนความคิดของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ที่ทำงานหรือให้ความสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ โดยมีรูปแบบกิจกรรมหลากหลาย  ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก  ผศ.ดร.กภ.คุรุศาสตร์ คนหาญ  รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์  กล่าวเปิดงาน และ รศ.ดร.อรทัย เพียยุระ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  กล่าวรายงานโครงการ  โดยมีบุคลากร นักศึกษา และประชาชนทั่วไปร่วมงานกว่า 3,000 คน ณ ศาลาพระราชทานปริญญาบัตร(เดิม) มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

“ศูนย์เพศภาวะศึกษา”ม.ขอนแก่น แหล่งรวมภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนความเท่าเทียม 

“ศูนย์เพศภาวะศึกษา”  จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษา วิจัย และการเรียนการสอนด้านเพศภาวะศึกษา รวมถึงการเผยแพร่ความรู้แก่สังคม โดยเน้น   กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สตรี เด็ก และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และมุ่งเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ตลอดจนร่วมมือกับ ภาคีเครือข่ายจัดงาน Isaan pride จัดต่อเนื่องปีที่ 3  นับตั้งแต่งานครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

 

           รศ.ดร.อรทัย เพียยุระ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์   เผยว่า  เดือนมิถุนายนของทุกปี นับว่าเป็น เดือน Pride month หรือเดือนแห่งการเฉลิมฉลองการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิความหลากหลายของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นมิติความหลากหลายทางเพศ ทางเชื้อชาติสีผิว ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา ความเชื่อ และความคิดเห็นที่แตกต่าง ดังนั้น ศูนย์เพศภาวะศึกษา  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงได้จัดโครงการ Isaan pride 2024 ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดโครงการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างการตระหนักรู้เรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อเป็นพื้นที่ในการแสดงออก และแลกเปลี่ยนความคิดของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

“ศูนย์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมภาคีเครือข่าย ทำงานหรือให้ความสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ ภายใต้ธีม Proud  to be Pride โดยคณะผู้จัดงานต้องการสร้างพื้นที่แห่งความภาคภูมิใจให้กับทุกเพศ พูดคุยเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ และสร้างความตระหนักถึงสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคม และโอบรับทุกกลุ่มคนที่มีอยู่อย่างหลากหลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพศ ช่วงวัย วัฒนธรรม ประเพณีที่หลากหลาย ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน และมหาวิทยาลัยขอนแก่นพร้อมเป็นพื้นที่แห่งความปลอดภัยนั้น”

 

LGBTQ อุ่นใจ   Coming Out เพราะสังคม มหา’ลัยยอมรับ ลั่น ม.ขอนแก่น พื้นที่ปลอดภัย

คำว่า Coming Out เป็นสำนวนภาษาอังกฤษ ที่มาจากวลีว่า Coming out of the closet คือการ ‘ออกมาจากตู้’ มักใช้สื่อความหมายถึงการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดโอกาสให้พี่น้องชาวมอดินแดงทั้งบุคลากรและนักศึกษา ได้มีโอกาสในการแสดงออกตัวตนและเสรีภาพของตนเอง อาทิ ด้านการแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศสำหรับบุคลากรและนักศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 สอดคล้องกับเป้าหมายทางพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 ซึ่งกล่าวถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ ผ่านโครงสร้างและการดำเนินงานของศูนย์เพศภาวะศึกษา คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ และผ่านการประสานความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ

           ผศ.ดร.กภ.คุรุศาสตร์ คนหาญ  รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เผยว่า เทศกาลงานไพร์ด มีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์จราจลและการต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิงในมหานครนิวยอร์กเมื่อเดือนมิถุนายน 1969 เพราะสถานการณ์การกดทับ และการไม่ยอมรับจากสังคม หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มความหลากหลายทางเพศแผ่ขยายไปทั่วโลก และงาน Isaan pride 2024 ในวันนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเป็นธรรมทางเพศ สร้างพื้นปลอดภัยและเป็นมิตรต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าเป็นนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร หรือบุคคลทั่วไปในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เราเป็นผู้นำในการรณรงค์ขับเคลื่อนการยุติความไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ และสร้างนโยบายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางเพศ ตลอดจนคุ้มครองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้เผยแพร่ไปในสังคมวงกว้าง  และขอถือโอกาสนี้แสดงความยินดีกับ  พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม  ที่ได้ผ่านมติประชุมวุฒิสภา ในรัฐสภา เมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน 2567 นั้นหมายความว่าการขับเคลื่อนของพวกเราที่ผ่านเป็นกระบอกเสียงในการกระตุ้นเตือนสังคมให้เล็งเห็นความสำคัญของผู้คนอย่างเท่าเทียมกันได้สำเร็จแล้ว

รศ.ดร.ชัจคเณค์ แพรขาว รองคณบดีฝ่ายบริหาร และยุทธศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เผยว่า “จากการศึกษางานวิจัย พบว่าสังคมในอดีตเมื่อ 30 ปีก่อน  มีอุปสรรคจากการยอมรับเพศภาพทั้งระดับปฐมภูมิครอบครัว ระดับสถาบันการศึกษา ระดับสังคมที่ทำงาน และระดับประเทศ  ผู้ที่มีเพศสภาพแตกต่างจากชาย หรือหญิง มักถูกเรียกขึ้นต้นด้วย อี (อีกระเทย) ญาติมิตรไม่เห็นด้วยทำให้ครอบครัวกดดันประชากรกลุ่มนี้อีก ในด้านการศึกษาเพื่อนล้อเรียนเพียงเพราะระบบการศึกษาครูยังไม่ถูกปลูกฝังความคิดนี้อย่างเปิดกว้างเลวร้ายที่สุดครูไล่นักเรียนชายที่ทาแป้งไปล้างหน้ากลับเป็นผู้นำในการต่อต้านเรื่องนี้เองในห้องเรียน  ในระดับชาติ  ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกจัดระบบสุขภาพที่ห้องจิตเวช  รับฮอร์โมนฟรี ไม่ได้ ระบบสุขภาพไม่เคยให้ข้อมูลเรื่อง มิติอันตรายจากการเติมฮอร์โมนเพศมากเกินไป หรือควรเติมตอนอายุเท่าไหร่ ไม่มีข้อมูลเหล่านี้ให้กับเยาวชนไทยเลย กลุ่มคน LGBTQ องฝ่าฟันทำอาชีพ ส่งเงินให้ครอบครัว ถูกยอมรับในสากลก่อน อาทิ เวทีมิสทิฟฟินี่ เวทีinter เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ถึงกลับได้รับการยอมรับระดับปฐมภูมิคือครอบครัว ซึ่งหน้าเศร้า เพราะหากเราได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ตั้งแต่ต้นเราอาจจะไปได้ไกลมากกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป หลายฝ่ายร่วมมือกัน รศ.ดร.ชัจคเณค์ ยอมรับว่า  “ค่านิยมในระดับครอบครัวเริ่มเปลี่ยนไป ทุกครอบครัวมองว่า ลูกจะเป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี เคารพเพศสภาพลูก   ระดับสังคมที่ทำงานโรงพยาบาล อดีตพยาบาลเพศชายโดยกำเนิดแต่งหญิงหมวกขาวไม่ได้ ปัจจุบันยอมรับให้ใส่ชุดหมวกขาวตามเพศสภาพได้  นับว่าสังคมเริ่มคลี่คลาย   ในโรงพยาบาลเริ่มมีศูนย์ให้คำปรึกษาก่อนแปลงเพศเพื่อประเมินการผ่าตัดแปลงเพศโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใช้สิทธิ์พื้นฐานเท่าเทียมประชากรคนอื่นๆ เรียกว่าเปิดกว้างมากขึ้น”

เช่นเดียวกับ นายธนากร ภูพันเชือก (นอริต้า) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า ผู้ปกครอง ให้ความเข้าใจตั้งแต่เด็ก  ครอบครัวยอมรับ  พื้นฐานครอบครัวแข็งแรง เราไม่กลัวอะไร พ่อแม่เราท่านสามารถปกป้องเราจากภายนอก เราจึงกล้าจะลงมือทำเพื่อตัวเองและผู้อื่น อีกปัจจัยหนึ่งคือเรามีครูในระดับมัธยมและระดับมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างและท่านเป็ฯ LGBTQ เป็นแบบอย่างของครูที่สอนดี สอนเก่งทำให้เราเข้าใจทั้งวิชาเรียน วิชาชีวิต  ท่านสะท้อนภาพความสุขสังคมให้เรา เหมือนถางหญ้าให้เราเห็นว่า LGBTQ มีที่ยืนบนสังคมสง่างาม ทำให้เราเรียนจบครูอยากเป็นครูเหมือนท่าน และปัจจุบันเรียนต่อปริญญาโท เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเหมือนที่ตอนเราได้รับ

 

 

LGBTQ อีสาน ฉลอง!! พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา การประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่มีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. เป็นประธาน และพิจารณาเสร็จแล้ว หลังให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นครบทั้ง 69 มาตรา ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม และมีมติให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้สามารถใช้บังคับได้หลังประกาศในราชกิจจาฯ 120 วัน

     คุณปุญชรัสมิ์ ตาเลิศ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน จ.ขอนแก่น  กล่าวว่า  วันนี้ตนตั้งใจมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทยในขบวน Isaan pride ในวันที่กฎหมาย ระบุว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว เพื่อให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมแก่วัยรุ่น เยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไปว่า เราคือมนุษย์คนหนึ่งในสังคม ที่ควรได้รับสิทธิเท่ากันเฉกเช่นมนุษย์คนอื่น ๆ

       นางสาวนันทภัค ทองวาว ชั้นปีที่3 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาภาษาไทย  เผยว่า “ ในฐานะเพื่อนร่วมชั้นเรียนเพื่อนร่วมสังคมของ LGBTQ  ในกลุ่มนี้สนุกมาก ทัศนคติดี เราไม่ควรตัดสินใครเพียงเพราะมีเพศที่ต่างจากเรา  การเดินขบวนในงาน Isaan pride ตนจัดเต็มเพื่อเพื่อนทุกปี  และยิ่งยินดีที่ในขบวนปีนี้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมอนุมัติแล้ว นั้นหมายความว่าเพื่อนจะมีสิทธิ์ทุกอย่างในสังคมเพิ่มมากขึ้น นี่นับเป็นก้าวแรก และจะสนับสนุนทุกก้าวของเพื่อนร่วมมนุษย์ด้วยกัน ไม่ต้องห่วงคุณไม่เดินคนเดียวโดดเดี่ยวแน่นอน”

           อาจารย์นาดา ไชยจิตต์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เผยว่า “เป็นที่หน้ายินดีที่วันนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านแล้ว เราสามารถใช้สิทธิ์จดทะเบียนสมรสได้ เพื่อรักษาสิทธิ์พื้นฐานในสถานประกอบการ นายจ้าง หรือการทำธูรกรรมอื่น ๆ หาก เจ้าหน้าที่นายทะเบียนทำการฝ่าฝืน ผิดกฏหมาย  แต่อย่างไรก็ตามมีผลบังคับใช้ใน 120 วัน  เหตุเพราะ  ทางเจ้าหน้าที่รัฐจะมีการเตรียมความพร้อมรองรับกฎหมายนี้ อาทิ  แบบฟอร์มใหม่  รื้อระบบทะเบียนราษฎร์ แก้ไขด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น  กฎหมายนี้มีแนวโน้มว่า จะทำให้ ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ให้ความเปิดกว้าง รับรู้  และกฏหมายฉบับนี้นับเป็นใบเบิกทาง พ.ร.บ. คุ้มครองเพศสภาพ ที่แตกต่างจากเพศกำเนิด จะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์มากมายต่อไป เรายังต้องทำงานต่อไป”

อย่างไรก็ตามงาน Isaan pride 2024 มีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เช่น เวทีเสวนา ขบวนพาเหรด Pride ชุดการแสดงต่าง ๆ และ Night Market และกิจกรรมพิเศษของปีนี้คือการประกวดขบวนพาเหรด Pride และ KKU Pride Icon มีกลุ่มเป้าหมายคือ นักศึกษา บุคลากร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนผู้สนใจ  โดยคณะผู้จัดงานต้องการสร้างพื้นที่แห่งความภาคภูมิใจให้กับทุกเพศ พูดคุยเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ และสร้างความตระหนักถึงสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคม และโอบรับทุกกลุ่มคนที่มีอยู่อย่างหลากหลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพศ ช่วงวัย วัฒนธรรม ประเพณีที่หลากหลาย ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน และมหาวิทยาลัยขอนแก่นพร้อมเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

บทความ : จิราพร ประทุมชัย

ภาพ : อรรถพล ฮามพงษ์

KKU, a safe zone for LGBTQ+ “Proud to be Pride”, celebrates the soon effective Marriage Equality Act

https://www.kku.ac.th/18013

ชมภาพเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/media/set?vanity=cadkku&set=a.913105393950066&locale=th_TH

Scroll to Top