อากาศร้อน! แพทย์ มข.ไขคำตอบ “ตากแดดนาน” เสี่ยงมะเร็งผิวหนังหรือไม่ พร้อมเปิดเคล็ดไม่ลับป้องกันรังสี UV

อากาศร้อนจัด อุณหภูมิขอนแก่นบางวันแตะสูงสุดที่ 43 องศาเซลเซียส ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องออกแดด หรือทำงานกลางแจ้ง ยิ่งร้อน แดดยิ่งแรงจนบางคนเพียงออกจากบ้านก็รู้สึกเหมือนผิวไหม้ อาการแบบนี้อันตรายหรือไม่ และจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งผิวหนังไหม รศ.พญ.สุธีรพร เชาว์วัฒนาพานิช แพทย์ผิวหนัง ศูนย์บริการทางการแพทย์ชั้นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีคำตอบ

รศ.พญ.สุธีรพร ระบุว่า มะเร็งผิวหนังเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักเกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) โดยรังสี UV ที่พบในชั้นผิวโลกจะมี 2 ชนิด ได้แก่ UVB และ UVA เมื่อรังสี UV ผ่านมายังผิวหนัง จะทำให้สารพันธุกรรม (DNA) ที่อยู่ในเซลล์ผิวหนังได้รับความเสียหาย และมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น ทำให้เซลล์ผิวหนังมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ และก่อให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนัง

นอกจากนี้ อาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การได้รับสารเคมีโดยเฉพาะสารหนู หากได้รับเป็นระยะเวลานานก็อาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่าหากมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนังคนในครอบครัวก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้น รวมถึงปัจจัยเกี่ยวกับเชื้อชาติ โดยเฉพาะคนผิวขาว ผมบลอนด์ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังมากกว่าคนผิวคล้ำ เพราะมีเม็ดสี (Melanin pigment) ซึ่งเป็นตัวช่วยปกป้องผิวหนังจากรังสี UV น้อยกว่าคนผิวคล้ำ และปัจจัยทางด้านภูมิคุ้มกัน พบว่าคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทั้งเกิดจากการติดเชื้อ หรือ รับประทานยากดภูมิคุ้มกันก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังเช่นกัน

“รังสี UV อยู่ในแสงแดด ยิ่งแดดจัด ก็จะยิ่งมีรังสี UV มากขึ้น ซึ่งรังสี UV แปรผันตรงกับการเกิดมะเร็งผิวหนังที่เพิ่มขึ้น แม้จะไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่การตากแดดนาน ๆ ครั้งเดียว จนเกิดภาวะ SUNBURN หรือภาวะผิวไหม้แดด ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง เช่นเดียวกับการตากแดดครู่เดียว แต่สะสมเป็นเวลานาน ก็มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังเช่นกัน”

เช็กอาการ รู้ได้อย่างไรว่าเป็น “มะเร็งผิวหนัง”

 

รศ.พญ.สุธีรพร ระบุว่า มะเร็งผิวหนังมักจะไม่แสดงอาการ ดังนั้น ทุกคนควรหมั่นตรวจเช็กสภาพผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ โดยลักษณะที่พบบ่อย คือ คนไข้จะมีตุ่มหรือก้อนที่ผิวหนังโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตุ่มนั้นจะมีการแข็งตัวเกิดขึ้น หรือมีการแตกออกเป็นแผล หรือมีแผลเรื้อรังรักษาไม่หาย หากมีอาการดังกล่าวควรเฝ้าระวังและปรึกษาแพทย์ทันที ในกรณีที่เห็นว่าเกิดผื่นหรือตุ่มดำหรือน้ำตาลเข้มที่มีสีไม่สม่ำเสมอเช่นเดียวกับการมีไฝที่โตขึ้นอย่างผิดปกติ และมีสีไม่สม่ำเสมอ ก็ควรพบแพทย์ผิวหนัง

หากเป็นมะเร็งผิวหนังแล้วไม่รักษาก็มีความเสี่ยงที่มะเร็งจะลามไปยังผิวหนังใกล้เคียง และอาจลามไปสู่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังจนทำให้เกิดแผลเรื้อรัง เกิดการติดเชื้อ และทรมานได้  และอาจทำให้รูปร่างของผิวหนังบริเวณดังกล่าวผิดรูปไปเมื่อตัดสินใจเข้ารับการรักษาในภายหลัง

“นอกจากนี้ ความอันตรายของมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะชนิดแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น คือ หากกระจายไปยังปอด ก็อาจจะทำให้เกิดอาการเหนื่อยหอบ และมีโอกาสเสียชีวิตเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยการตัดมะเร็งออกทั้งหมด และทำให้ไม่เสี่ยงต่อการกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีกด้วย”

เทคนิคป้องกันรังสี UV ในวันที่แดดร้อนจัด

 

รศ.พญ.สุธีรพร  ยังเปิดเคล็ดไม่ลับในการป้องกันรังสี UV ที่อยู่ในแสงแดด สิ่งสำคัญคือ การหลีกเลี่ยงแดดให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะแดดในช่วงเวลา 10.00 – 16.00 น. ซึ่งค่อนข้างร้อนจัด ปริมาณรังสี UV ก็จะค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงควรอยู่ในร่มให้ได้มากที่สุด

หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ ควรเลือกครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVB และ UVA และควรมีคุณสมบัติกันน้ำได้ เพราะจะช่วยป้องกันเหงื่อ นอกจากนี้ ครีมกันแดดควรมี SPF หรือค่าที่บ่งบอกความสามารถในการปกป้องรังสี UVB ควรจะอยู่ที่ 30 ขึ้นไป หากต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานหรือมีเหงื่อออกมากควรทาครีมกันแดดทุก 2 ชั่วโมง เรื่องเสื้อผ้า ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หากออกกลางแจ้งควรสวมแว่นกันแดด กางร่ม หรือสวมหมวกที่มีปีกกว้างเพื่อป้องกันรังสี UV ร่วมด้วย

ช่วงที่ผ่านมา รศ.พญ.สุธีรพร  พบคนไข้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนังมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กรณีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนัง การรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค หากอยู่ในระยะเริ่มต้น ส่วนมากจะแนะนำให้ตัดมะเร็งผิวหนังออกทั้งหมด แต่กรณีที่ตัดไม่ได้ อาจรักษาด้วยการฉายแสง หรือรักษาด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้าร่วมกับการขูดออก หรือรักษาด้วยการจี้ด้วยความเย็น แต่หากเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย นอกจากตัดมะเร็งผิวหนังออกแล้ว อาจต้องให้ยาเคมีบำบัด ฉายแสง หรือรักษาด้วยยาพุ่งเป้าเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อรองรับการรักษาคนไข้แบบองค์รวมตั้งแต่การวินิจฉัยโดยแพทย์ผิวหนังเป็นหลัก ส่วนการรักษาหากไม่สามารถผ่าตัดมะเร็งผิวหนังออกได้ทั้งหมด จะมีการบูรณาการและรักษาร่วมกับแพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่ง และหากอยู่ในระยะแพร่กระจายก็จะมีการรักษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งต่อไป

Hot weather! KKU doctor warns “long time in the sun” risks skin cancer or not, and gives clue for protection against UV

https://www.kku.ac.th/17800

Scroll to Top