“ต้นกาฬพฤกษ์ที่ในหลวง ร.9 ทรงปลูกพระราชทานแก่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว เติบใหญ่สวยงามอยู่หน้ารพ.ทันตกรรม และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวทันตะ มข. จวบจนปัจจุบัน”
สืบเนื่องจากวันที่พฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2533 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการทางทันตกรรม ของคณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคาร และทรงปลูกต้นกาฬพฤกษ์ไว้ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ ต่อมาในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 นายมิตรชัย อานันทนสกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) พร้อมคณะทำงาน ได้เข้ามาบำรุงรักษาต้นกาฬพฤกษ์ดังกล่าวภายใต้โครงการวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2560 และเข้ามาดำเนินการอีกครั้งในวันที่ 21 ตุลาคม 2561 และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีนำทีมผู้บริหาร บุคลากรคณะทันตแพทยศาสตร์ ร่วมพิธีย้าย และติดตั้งแผ่นศิลาฤกษ์ จากเดิมบริเวณป้ายอาคารมหิตลานุสรณ์ มาตั้งไว้ ณ บริเวณต้นไม้ทรงปลูกหน้าคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน สำหรับการดูแลรักษาต้นไม้ทรงปลูก คณะทันตแพทยศาสตร์ได้รับคำแนะนำจากทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) คือ
1.การรดน้ำ ควรรดในตอนเช้าหรือเย็น ช่วงที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป ซึ่งเวลาที่เหมาะสม คือ 6.00 – 8.00 น. และ 17.00 ถึง 21.00 น. ไม่ควรรดน้ำในตอนกลางวันที่แดดจัด เพราะเปรียบเสมือน การเอาน้ำร้อนมารดต้นไม้นั่นเอง อาจรดวันละครั้งในปริมาณที่มากกว่าปกติ หรือรดวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น วิธีรด คือ ควรรดรอบโคนต้นไม้ให้ชุ่มและรดพุ่มใบ ด้วยเพื่อให้ใบพืชซึมซับน้ำ เข้าทาง ปากใบ และลดการคายน้ำ หลังรดน้ำสายยางควรม้วนเก็บให้เรียบร้อย ไม่ควรวางทับสนามหญ้า เพราะนอกจาก จะดูไม่เรียบร้อย น้ำที่ค้างอยู่ในสายยางที่ตากแดดจัดจะร้อนทำให้หญ้าตายได้
2.การใส่ปุ๋ย พยายามอย่าให้เม็ดปุ๋ยติดค้างอยู่ที่ใบและยอด เพราะจะทำให้เกิดอาการใบไหม้ได้ หรือใส่ก่อนรดน้ำ สำหรับการใส่ปุ๋ยทางใบและฉีดยาฆ่าแมลง ไม่ควรฉีดพ่นในขณะที่อากาศร้อนจัด จะทำให้ใบไหม้และไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะในช่วงที่อากาศร้อน ปากใบพืชจะปิดเพื่อลดการคายน้ำ การใส่ปุ๋ยไม่ควรใส่บ่อยเกินไปถ้าไม่จำเป็น จะเป็นการเร่งการแตกใบใหม่ ซึ่งใบอ่อนจะไม่ทน กับอากาศ และแสงแดดที่ร้อนจัด
3.การพรวนดินให้ร่วนซุยเป็นประจำ จะทำให้ดินโปร่ง มีช่องว่างในเนื้อดินดูดซับน้ำไว้ได้มาก ทำให้น้ำซึมซับลงในดินในระดับที่ลึกกว่าปกติ ถ้าดินแห้งเกินไปอาจใช้วัสดุปลูกมาคลุมแปลงหรือโคนต้น ช่วยดูดซับน้ำ เช่น กาบมะพร้าวสับหรือหญ้าที่แห้งและปราศจากเชื้อโรคและวัชพืช
4.ควรมีการตัดแต่งกิ่ง กระโดง กิ่งเป็นโรค และกิ่งที่ไม่มีความจำเป็น เพื่อลดการคายน้ำของพืช
นับเป็นความภาคภูมิใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แม้ทางคณะจะมีภารกิจหลักในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของประชาชน แต่เรายังได้ยึดถือและดำเนินตามพระปนิธานในการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมกับพระเจตนารมณ์ของพระองค์ท่านเพื่อลูกหลานต่อไปในอนาคต
“ปวงข้าพระพุทธเจ้าน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และจะขอเดินตามรอยพ่อ ปลูกต้นไม้คืนผืนป่าให้แก่แผ่นดิน เป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธาร ดังพระราชปณิธานของพระองค์ท่านตลอดไป”
กาฬพฤกษ์ทรงปลูก “ชูช่อเบ่งบาน” ณ คณะทันตแพทยศาสตร์
- วันที่
- เวลา
- หมวด : ข่าวประชาสัมพันธ์และบริการ