วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภา มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ทพญ.ดร.นวรัตน์ วราอัศวปติ รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมต้อนรับ Prof. Randy W. Schekman, Nobel Laureate for Medicine, University of California, Berkeley ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ในโอกาสปาฐกถาพิเศษสานสัมพันธ์สู่สันติวัฒนธรรม “The Thai-Japan-ASEAN ‘Bridges’ Series” ณ ห้องประชุมพีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ มูลนิธิ International Peace Foundation เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี การก่อตั้งมหาวิทยาลัย และเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ บทบาทของมหาวิทยาลัยของรัฐในฐานะกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม “The Role of Public Universities as an Engine for Social Change,”
“ตลอด 60 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สร้างความก้าวหน้าทางด้านวิชาการมากมาย ซึ่งเป็นการสนับสนุน และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมกัน เรามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ชี้แนวทางต่อชุมชน ขณะเดียวกันการจัดงานในวันนี้ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระดับโลก และ สร้างการพัฒนาร่วมกัน เชื่อว่าประสบการณ์ ความรู้ ความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ของศาสตราจารย์ Schekman จะนำไปสู่การขยายผลและเป็นแนวคิดตั้งต้นให้ผู้ที่มาฟังบรรยายพิเศษในวันนี้ เกิดแรงบันดาลใจในการสานต่อแนวคิด การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากแนวคิดนี้สอดคล้องกับค่านิยม คิด อุทิศเพื่อชุมชนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั่นเอง”
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า งาน Noble Prize Dialogue เป็นสัญลักษณ์ของสะพานเชื่อมความรู้และความร่วมมือระหว่างประเทศไทย ญี่ปุ่น อาเซียน และที่อื่นๆ ในฐานะสถาบันที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา เรามีบทบาทในการคิดค้น ให้ความรู้ และทำหน้าที่เป็นกลไกของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเรายินดีทำหน้าที่รับผิดชอบนี้ด้วยความมุ่งมั่น
“ศาสตราจารย์ Randy W. Schekman มีการทำงานที่ล้ำเลิศและมีการอุทิศตนในการพัฒนาเกี่ยวกับชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ ฉะนั้นการที่นักการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย และ ผู้กำหนดนโยบาย ได้ฟังข้อมูลเชิงลึกจากท่านในวันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่จะทำให้เราตระหนักถึงความรับผิดชอบ และ โอกาสของเราที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีประโยชน์ต่อสังคม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยยกระดับ และช่วยเหลือการพัฒนาระดับโลกต่อไป”
Prof. Randy W. Schekman, Nobel Laureate for Medicine, University of California, Berkeley เปิดเผยว่า ตนเองมีความสนใจในวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยเด็ก จากการสังเกตเลนส์พลาสติกของกล้องจุลทรรศน์ของเล่น ซึ่งในขณะนั้นได้เห็นการว่ายไปมาของจุลินทรีย์ ทำให้เกิดความหลงใหลและเริ่มศึกษากลไกลของสิ่งมีชีวิตในระดับโมเลกุล เมื่อศึกษาต่อมาทำให้พบว่าในโครโมโซมของคนเรามีรหัสยีนส์ประมาณ 23,000 รหัสยีนส์ โดยในรหัสโมเลกุลดังกล่าวมีโปรตีนในการสร้างเซลล์ ซึ่งศาสตร์และกลไกต่างๆระดับโมเลกุลนี้ นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อทำความเข้าใจโรคร้ายต่างๆและสืบย้อนกลับไปหาต้นตอของโรคในมนุษย์
“วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานนี้ทำให้ตระหนักว่าการพัฒนา หรือ ลงทุนในวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน โดยมีมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นฟันเฟืองมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศชาติและสังคมของเรา ในการพัฒนานักวิจัย และ นักวิชาการที่มีคุณภาพออกสู่สังคมโลก ฉะนั้นทุกประเทศควรจะต้องลงทุนในวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานเพื่อฝึกอบรมผู้ประกอบการและนักวิชาการรุ่นใหม่”
อย่างไรก็ตาม Prof.Schekmanได้กล่าวในตอนท้ายไว้ว่า มหาวิทยาลัยของรัฐควรนำเอาองค์ความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และ ด้านสังคมศาสตร์มาร่วมบูรณาการ เพื่อผลิตนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถในระดับสูง ในการพัฒนาประเทศชาติสังคม ซึ่งจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าของประเทศชาติ และ มนุษยชาติต่อไป