เมื่อวันอังคารที่ 19 มีนาคม 2567 สำนักพิมพ์ Pensoft สำนักพิมพ์ด้านวิชาการระดับโลก ได้จัดอันดับ 10 สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของปี 2023 (Top 10 new species of 2023) จากสิ่งมีชีวิตที่ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Zookeys มากกว่า 100 ชนิด ผลปรากฏว่า “บึ้งประกายสายฟ้า” 𝑪𝒉𝒊𝒍𝒐𝒃𝒓𝒂𝒄𝒉𝒚𝒔 𝒏𝒂𝒕𝒂𝒏𝒊𝒄𝒉𝒂𝒓𝒖𝒎 จากประเทศไทยคว้าอันดับที่ 1 ไปครอง ซึ่งความน่าสนใจของบึ้งชนิดนี้มาจากสีที่มีประกายน้ำเงินสลับม่วง ที่เกิดจากโครงสร้างระดับนาโนของขนบึ้ง ไม่ได้เกิดจากเม็ดสีเหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไป และสีน้ำเงินม่วงนับเป็นสีที่หายากที่สุดในสิ่งมีชีวิตอีกด้วย
สำหรับการตีพิมพ์ในครั้งนี้เป็นผลงานจากทีมวิจัยนำโดย ผศ.ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ โจโฉ ยูทูปเบอร์ชื่อดัง และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย นายชวลิต ส่งแสงโชติ นายปฏิภาณ ศรีรานันท์ และนายปวีณ ปิยะตระกูลชัย ได้ศึกษาวิจัยและค้นพบบึ้งชนิดใหม่ของโลกนี้เมื่อปี 2566 โดยเป็นบึ้งชนิดแรกของไทยที่พบในบริเวณที่เป็นป่าชายเลน โดยบึ้งชนิดนี้จัดอยู่ในสกุล 𝑪𝒉𝒊𝒍𝒐𝒃𝒓𝒂𝒄𝒉𝒚𝒔 ในวงศ์ย่อย Selenocosminae ซึ่งงานวิจัยถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยนานาชาติ Zookeys เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566
ผศ.ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์หลังการจัดอันดับดังกล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้รับเกียรติในการจัดอันดับให้อยู่อันดับหนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่ถูกค้นพบจากสำนักพิมพ์ Pensoft
“อยากให้ความสำเร็จในครั้งนี้ กลายเป็นกำลังใจและแรงบันดาลใจให้ผู้ที่สนใจศึกษาด้านอนุกรมวิธาน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษาในทุกสิ่งของสิ่งมีชีวิตว่า หากตั้งใจทำในสิ่งที่เราสนใจ สักวันหนึ่งความพยายามนั้นก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้ในที่สุด”
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.นรินทร์ ทิ้งท้ายว่า เนื่องด้วยความน่าสนใจของงานวิจัยชิ้นนี้ ส่งผลให้ทีมวิจัยได้ต่อยอดการศึกษาร่วมกับอาจารย์ภาคฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อทราบโครงสร้างในระดับนาโนของขนบึ้งชนิดนี้ ที่สามารถประกายแสงสีน้ำเงินหรือม่วงได้ ความรู้ในด้านนี้จะนำไปสู่การพัฒนาวัสดุทางนาโน เคลือบผิวเพื่อสะท้อนแสง ซึ่งอาจได้พบเห็นในอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือเสื้อผ้าแฟชั่นอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
ส่วนด้านการเรียนการสอนปัจจุบัน สาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวิชาแมงมุมวิทยาที่เปิดการเรียนการสอนแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งคิดว่า “บึ้งประกายสายฟ้า” นี้ ก็จะเป็นโมเดลหนึ่งที่สามารถอธิบายให้นักศึกษาเรียนรู้ได้หลากหลายมิติ ทั้งด้านอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา และการประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องแมงมุม เพื่อเพิ่มแรงบันดาลใจผลิตนักวิจัยเลือดใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่นต่อไปในอนาคต
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบึ้งประกายสายฟ้าได้ที่ : https://th.kku.ac.th/158122/
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : https://blog.pensoft.net/2024/03/19/celebrating-taxonomic-discoveries-top-10-new-species-of-2023
Chomphuphuang N, Sippawat Z, Sriranan P, Piyatrakulchai P, Songsangchote C (2023) A new electric-blue tarantula species of the genus Chilobrachys Karsh, 1892 from Thailand (Araneae, Mygalomorphae, Theraphosidae). ZooKeys 1180: 105-128.
https://doi.org/10.3897/zookeys.1180.106278
“Electric-blue tarantula”, discovered by KKU researcher, is ranked the first in 10 Top New 2023 species by world academic publisher