มนุษย์-สังคม มข. ผนึกกำลังเครือข่าย 6 สถาบัน จัดค่ายสานสัมพันธ์มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สานพลังสู่ชุมชน

เมื่อวันที่ 12-18 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาส  แก้วเกตุพงษ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและสื่อสารองค์กร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และนักศึกษา ได้เดินทางเข้าร่วมโครงการสานสัมพันธ์เครือข่ายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 6 สถาบัน (ค่าย 6 สถาบัน) ครั้งที่ 8 ประจำปีการศึกษา 2566 ณ โรงเรียนบ้านทุ่งเสี้ยว (นวรัฐ) อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวี  จันทร์ส่อง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งแนวคิดของการจัดค่ายในครั้งนี้ คือ “ฮอมฮีตฮอย” โดยในปีนี้ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ การจัดค่ายถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของการร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีนี้อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวี  จันทร์ส่อง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับการจัดค่ายในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมความสัมพันธ์ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  ของคณะวิชาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีเครือข่ายความร่วมมือประกอบด้วยสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา จำนวน 6 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นการจัดค่ายในรูปแบบของค่ายอาสาพัฒนาและบำเพ็ญประโยชน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างเครือข่าย  ความร่วมมือในการพัฒนานิสิตนักศึกษา เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการทำกิจกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง บนพื้นฐานของการใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้งเพื่อให้นิสิตนักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนและมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นจากการเรียนรู้ชุมชนเป็นฐาน อีกทั้งยังเป็นการ เปิดโลกทัศน์ให้กับนิสิตนักศึกษาได้ศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมในต่างภูมิภาค

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาส  แก้วเกตุพงษ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและสื่อสารองค์กร

ปิยาภัสร์  หมื่นสาย (ทูน่า) นักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 3 ในฐานะนายกสโมสรนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวถึงความรู้สึกและความประทับใจที่มีต่อค่ายว่า “ในนามผู้เข้าร่วม  ค่าย 6 สถาบันในปีนี้ ดิฉันรู้สึกประทับใจมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจ้าภาพที่ได้ดูแลและต้อนรับเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการแสดงในพิธีเปิดซึ่งเป็นการแสดงจากน้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งเสี้ยว (นวรัฐ) หรือกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภาคเหนือ ที่จัดขึ้น ณ โบราณสถานเวียงท่ากาน พร้อมกับการแสดงของพ่อ ๆ แม่ ๆ ชาวเวียงท่ากาน ทำให้ได้เห็นวัฒนธรรมที่งดงามของคนในชุมชน และตลอดระยะเวลากว่า 1 สัปดาห์ที่ดิฉันได้เป็นส่วนหนึ่งของค่ายในครั้งนี้ ดิฉันได้เข้าร่วมทุกกิจกรรมที่จัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาสี การแสดงนิทานพื้นบ้าน กิจกรรมสันทนาการร่วมกับทุกมหาวิทยาลัย กิจกรรมทัศนศึกษา และกิจกรรมฐานทั้ง 4 ฐาน ได้แก่ สวัสดิการ ศึกษาชุมชน บำเพ็ญประโยชน์ และวิชาการ ซึ่งถึงแม้ว่าฐานวิชาการจะเป็นฐานที่เหนื่อยสุด ๆ แต่ก็สนุกสุด ๆ เช่นเดียวกัน เพราะเป็นฐานที่ให้ทั้งความรู้และความสนุกแก่น้อง ๆ นักเรียน โดยใช้กิจกรรมสันทนาการ ซึ่งทุกกิจกรรมที่เจ้าภาพได้จัดเตรียมไว้ ทำให้เพื่อน ๆ ในค่ายได้รู้จักกันมากขึ้น ได้เพื่อนใหม่มากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนความคิดและทัศนคติซึ่งกันและกัน ได้รับทั้ง “ประสบการณ์” และ “มิตรภาพ” ดิฉันเชื่อว่าการเข้าร่วมค่ายในครั้งนี้จะทำให้ดิฉันสามารถนำเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปต่อยอดในการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต”

ปิยาภัสร์  หมื่นสาย (ทูน่า) นักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 3

นพฤทธิ์  สิทธิจันทร์ (ท็อป) นักศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 กล่าวในฐานะลูกค่ายว่า “ในฐานะผู้เข้าร่วมค่ายจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งค่ายสานสัมพันธ์มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 6 สถาบัน ครั้งที่ 8 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปีนี้ ถือเป็นค่ายที่สร้างความประทับใจอย่างมากสำหรับผม เพราะปีที่แล้วผมเข้าร่วมในฐานะเจ้าภาพ การเข้าร่วมค่ายครั้งนี้เป็นปีที่ 2 กิจกรรมที่เกิดขึ้นถือเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษาจากทั้ง 6 สถาบัน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค ทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่างภูมิภาคมากขึ้น และในปีนี้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเอาวัฒนธรรมจากภาคอีสานมานำเสนอผ่านการแสดงเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเพื่อน ๆ จากต่างมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งผมเอง ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงนี้ด้วย และถึงแม้ค่ายในปีนี้จะจบลงไปแล้ว แต่ความประทับใจในฐานะลูกค่ายยังคงอยู่ ผมหวังว่าค่ายสานสัมพันธ์มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 6 สถาบัน จะยังเข้มแข็งและจัดขึ้นอีกในทุก ๆ ปี เพื่อเป็น ส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพให้กับนิสิตนักศึกษาต่อไป”

นพฤทธิ์  สิทธิจันทร์ (ท็อป) นักศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 3

กิจกรรมที่จัดขึ้นในค่ายมีทั้ง พิธีบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งจัดขึ้น ณ โบราณสถานเวียงท่ากาน เพื่อเป็นการต้อนรับ และรับขวัญให้กับชาวค่าย รวมทั้งการแสดงต้อนรับจากชุมชน กิจกรรมฐานบำเพ็ญประโยชน์และพัฒนาภายในโรงเรียน (การวาดภาพในผนังอาคารเรียน ทำความสะอาดและปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในโรงเรียน) กิจกรรมฐานวิชาการ และนันทนาการร่วมกับนักเรียน (การวาดภาพระบายสีและกิจกรรมนันทนาการ ซึ่งถือเป็นการบูรณาการการเรียนรู้ให้กับนักเรียน) กิจกรรมฐานสวัสดิการ (การประกอบอาหารให้กับชาวค่ายได้รับประทาน โดยได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้ประกอบอาหารหลักในทุกมื้อ และมีนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบันเป็นผู้ช่วย) และกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์สำคัญของการจัดค่ายในครั้งนี้ คือ กิจกรรมการลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ชุมชน โดยนิสิตนักศึกษาแต่ละกลุ่มได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ทำกิจกรรมในพื้นที่ ชุมชนเวียงท่ากาน” ซึ่งกิจกรรมมีทั้งการเยี่ยมชมสวนเกษตรอินทรีย์ สวนหม่อน และเรียนรู้ การเพาะพันธุ์หม่อนด้วยวิธีปักชำกิ่ง, การทำตาแหลว (เครื่องจักสานทำจากไม้ไผ่ ใช้เป็นเครื่องหมายทางพิธีกรรม บ่งบอกอาณาเขตหวงห้าม), การทำสวยดอก (กรวยดอกไม้ซึ่งทำจากใบตอง), การทำโคมกระดาษ, การทำข้าวต้มมัดและขนมครก สำหรับ ชุมชนเวียงท่ากาน” นั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองโบราณที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเมืองหน้าด่านของ อาณาจักรหริภุญชัย” หรือจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน ในพื้นที่เวียงท่ากาน พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่วัฒนธรรมหริภุญชัยต่อเนื่องมาจนถึงสมัยล้านนา ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ หรือที่เรียกว่า “ชาวยอง” เนื่องจากอพยพมาจากเมืองยองในประเทศเมียนมาร์ และที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของโบราณสถานที่มีอายุกว่า 1,000 ปี นับเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของดินแดน อารยธรรมล้านนาอีกแหน่งหนึ่งที่ขับเคลื่อนด้วยทุนทางวัฒนธรรม โดยอาศัยชุมชนที่มีความเข็มแข็งที่ร่วมกันอนุรักษ์ และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่

นอกจากนี้ ในแต่ละวันยังมีกิจกรรมนันทนาการสลับหมุนเวียนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกชาวค่ายได้ละลายพฤติกรรม สานสัมพันธ์กับเพื่อนต่างสถาบัน ฝึกความเป็นผู้นำและกล้าแสดงออก กิจกรรมการแข่งขันกีฬาสี กิจกรรมการแสดงนิทานพื้นบ้านยุค 90 กิจกรรมทัศนศึกษา ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ของนิสิตนักศึกษาและเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น สำหรับกิจกรรมในวันสุดท้ายเป็นการแสดงแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคตะวันออก ซึ่งทำให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมผ่านการแสดงที่สนุกสนานและเป็นกันเอง

 

 

 

ข่าว: กิตติชัย  กองแก้ว

ภาพ: Facebook Fanpage Faculty of Humanities, Chiang Mai University

และ HUSO KKU Photo club

 

Scroll to Top