การเปิดชั้นเรียน หรือ Open Class เป็นกระบวนการในการพัฒนาวิชาชีพครู (Teaching Profession) โดยมีพื้นที่ ในการพัฒนาใช้ห้องเรียนจริง (Live Classroom) เพื่อค่อยๆ ทำความเข้าใจ “ความสลับซับซ้อนของชั้นเรียน” และ “วิธีการแก้ปัญหา” (ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์, 2557) ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานเชิงนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษา ที่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาทางด้านการสอน
เมื่อการเปิดชั้นเรียนเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานเชิงนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาทางด้านการสอน ดังนั้นเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษาในขณะนั้นเป็นองค์กรนำร่องที่นำคำศัพท์นี้เข้ามาพร้อมๆกับโครงการ APEC Lesson Study พร้อมกับเริ่มจัดกิจกรรมเปิดชั้นเรียนที่โรงเรียนนำร่อง การใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน และวิธีการแบบเปิด ครั้งที่ 1 ขึ้น เมื่อปี 2550 โดยมีรูปแบบการเปิดชั้นเรียนที่ครูไม่ได้สอนนักเรียนของตนเอง เพื่อเป็นการให้เห็นว่านวัตกรรมดังกล่าวสามารถเริ่มต้นใช้ได้กับนักเรียนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเรียนแบบนี้มาก่อนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นได้รับการพัฒนามามากกว่า 152 ปี โดยมีจุดเน้น คือ เป้าหมายหลักของการพัฒนาอยู่ที่พัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนใน “ชั้นเรียน”, พื้นที่ในการพัฒนาใช้ “ห้องเรียนจริง” (Live Classroom), เป้าหมายรองของการพัฒนาอยู่ที่การเรียนรู้ร่วมกันของครู (Teacher Learning) เพื่อจะเข้าใจนักเรียน และเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของการพัฒนา (Isoda, 2005; Shimizu, 2006; Inprasitha, 2016)
รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกสมาคมคณิตศาสตรศึกษา เปิดเผยผ่านรายการรอบรั้ว มข. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น เอฟ.เอ็ม.103 เมกกะเฮิรตซ์ ดำเนินรายการโดย คุณเบญจมาภรณ์ มามุข ว่า การเปิดชั้นเรียนระดับชาติของประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นโดยการนำของ รศ. ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ในนามของผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2550 จนถึงปี 2567 ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสาหรับอาเซียน ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด สมาคมคณิตศาสตรศึกษา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ และมูลนิธิพุทธรักษา จึงกำหนดจัดงานการเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 17 (The 17th National Open Class: TLSOA) สำหรับผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู นักศึกษา และผู้ที่สนใจ ขึ้น ในวันที่ 23 – 24 มีนาคม 2567 ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การจัดงานครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะเรามีโมเดลเชิงนวัตกรรม TLSOA (Thailand lesson study incorporated with open approach) มาเป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอ ซึ่งเป็นกระบวนการในการพัฒนาวิชาชีพครู (Teaching Profession) โดยมีพื้นที่ในการพัฒนาใช้ห้องเรียนจริง (Live Classroom) เพื่อค่อยๆ ทำความเข้าใจ “ความสลับซับซ้อนของชั้นเรียน” และ “วิธีการแก้ปัญหา”
ด้าน ผศ.เขม เคนโคก Global Innovation Project, IRDTP for ASEAN กล่าวถึงรูปแบบการจัดงานว่า เราขึ้นจัดในรูปแบบ Hybrid Learning เป็นการผสมผสานการเรียนรู้แบบ Onsite ควบคู่ไปกับการเรียน Online เป็นการเผยแพร่ผลการดำเนินการใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (Thailand lesson study incorporated with open approach) ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งรับชมวิดีทัศน์การทำ Lesson Plan, การเปิดชั้นเรียนที่เน้นการพัฒนาทักษะการคิดต่าง ๆ, การเปิดชั้นเรียน เรื่อง สร้างสรรค์ด้วยวงกลม, นิทรรศการเสมือนจริง (Virtual Exhibition), การบรรยายพิเศษและร่วมสะท้อนผล จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ, การเปิดชั้นเรียนที่เน้นการพัฒนาทักษะการคิด (คู่ขนาน) 5 ชั้นเรียน ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา, การ Reaction การให้ข้อเสนอแนะชั้นเรียน และถามตอบประเด็นการดูชั้นเรียน ภายหลังการจัดกิจกรรมเสร็จสิ้นจะมีการถอดบทเรียนเพื่อการพัฒนาและนำไปปรับใช้ในกระบวนการเรียนการสอนจริง และเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง โดยมีครูผู้เชี่ยวชาญ และครูประจำการในการพัฒนานวัตกรรมการสอน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาจำลองการเปิดชั้นเรียนที่เน้นการพัฒนาทักษะการคิด (คู่ขนาน) ระดับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จำนวน 10 ชั้นเรียนโดยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู นักศึกษา
รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา กล่าวในตอนท้ายว่า การเปิดชั้นเรียน หรือ Open Class ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานเชิงนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาทางด้านการสอน เป็นกระบวนการในการพัฒนาวิชาชีพครู (Teaching Profession) โดยมีพื้นที่ ในการพัฒนาใช้ห้องเรียนจริง (Live Classroom) เพื่อค่อยๆ ทำความเข้าใจ “ความสลับซับซ้อนของชั้นเรียน” และ “วิธีการแก้ปัญหา” โดยเป้าหมายหลักของการพัฒนาอยู่ที่พัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนใน “ชั้นเรียน” พื้นที่ในการพัฒนาใช้ “ห้องเรียนจริง” (Live Classroom) เป้าหมายรองของการพัฒนาอยู่ที่การเรียนรู้ร่วมกันของครู (Teacher Learning) เพื่อจะเข้าใจนักเรียน และ เน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของการพัฒนา”
มหกรรมการเปิดชั้นเรียนระดับชาติครั้งนี้ จะเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งถึงการพัฒนาศักยภาพการศึกษาว่า ระบบการศึกษาของไทยจะเดินไปในทิศทางใดในอนาคต The 17th National Open Class : TLSOA พร้อมรอผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา ผู้เกี่ยวข้อง และผู้สนในมาร่วมพิสูจน์ในกิจกรรมครั้งนี้
สำหรับผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู นักศึกษา และผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 20 มีนาคม 2567 ที่ https://www.openclassthailand.com โดยเปิดรับลงทะเบียน ทั้งทางออนไซต์และทางออนไลน์ สามารถเลือกสมัครแพ็คเกจต่าง ๆ ได้ตามต้องการ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 043-009700 ต่อ 45630
ข่าวบทความ : เบญจมาภรณ์ มามุข
ข้อมูลเพิ่มเติม : รายการรอบรั้ว มข. https://www.facebook.com/KKURadioFM103/videos/1514591065776285
ข้อมูลเพิ่มเติม : Centre for Research in Mathematics Education (CRME), Khon Kaen University