คณะพยาบาลศาสตร์ มข. ชวนรู้จัก “อะดีโนไวรัส” ในเด็กเล็ก แนะอาการ-เทคนิคป้องกันเชื้อก่อนแพร่สู่ผู้ปกครอง

อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่เหล่าพ่อแม่ ผู้ปกครองต่างร้อนใจ เมื่อลูกหลานต้องเผชิญกับอาการเจ็บป่วย หนึ่งในโรคที่หลายคนกำลังดูแลรักษากันอยู่ช่วงนี้คงหนีไปพ้นโรคติดเชื้อ “อะดีโนไวรัส” ที่ทำให้น้อง ๆ หนู ๆ ต้องหยุดเรียน และบางรายมีอาการหนักจนต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล

ผศ.แก้วกาญจน์  เสือรัมย์  ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศในการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า “อะดีโนไวรัส” (Adenovirus) มีมานานแล้ว เป็นลักษณะของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกาย โดยเฉพาะในเด็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ส่งผลกระทบต่อการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และการติดเชื้อที่ตา ซึ่งระบาดได้ตลอดทั้งปี โดยไม่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล แต่ก็มีบางรายงาน ระบุว่า อะดีโนไวรัสจะระบาดในช่วงอากาศหนาวเช่นเดียวกัน

สำหรับอาการเบื้องต้น เมื่อเด็กติดเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก และบางคนมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปอดอักเสบ ทำให้หายใจหอบได้ ขณะเดียวกัน ระบบทางเดินอาหารก็อาจมีปัญหา จนทำให้มีอุจจาระร่วง ท้องเสีย และผู้ป่วยบางคนก็มีอาการตาแดงได้

เด็กที่ติดอะดิโนไวรัสมีโอกาสจะแพร่เชื้อไปยังพ่อแม่ได้ เพราะอยู่ใกล้ชิดกันจึงอาจสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระ ซึ่งเชื้อนี้จะแพร่จากการสัมผัสโดยตรง ผ่านของที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน หรือ ของเล่นต่าง ๆ แต่พ่อแม่นั้นแม้จะมีอาการป่วยคล้ายกัน แต่จะไม่รุนแรงเท่าเด็ก เพราะผู้ใหญ่มีภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์กว่า

เมื่อติดเชื้อ “อะดีโนไวรัส” แล้ว การรักษาส่วนใหญ่จะเน้นที่รักษาตามอาการ หากมีไข้ก็จะมีการเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิหรืออาจให้รับประทานยาลดไข้ในกรณีที่มีไข้สูง ให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าระบายความร้อนได้ดี ดื่มน้ำให้มาก หากมีน้ำมูกก็ต้องสังเกตว่าน้ำมูกเป็นสีอะไร ถ้าเป็นสีใสก็สามารถใช้คอตตอนบัดชุบน้ำอุ่นเช็ดในรูจมูกได้  ซึ่งโดยปกติอาการเหล่านี้จะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากเด็กมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ ปีกจมูกบาน คอหอยและใต้ซี่โครงมีลักษณะบุ๋มลงเมื่อหายใจ มีน้ำมูกสีเหลืองหรือเขียว ควรต้องไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้

ด้าน น.ส.นาฎนารี เหนือกลาง พยาบาลวิชาชีพประจำศูนย์ความเป็นเลิศในการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงวิธีป้องกัน “อะดีโนไวรัส” ว่า สิ่งสำคัญ คือ การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่อย่างถูกวิธี ขณะเดียวกันทางศูนย์ฯมีแนวทางในการคัดกรองเด็กก่อนเข้าเข้าเรียน โดยมีครูเวรมาคัดกรอง เริ่มจากให้เด็กล้างมือด้วยสบู่  ให้เด็กเช็ดมือ และตรวจวัดอุณหภูมิ พร้อมกับใช้ไฟฉายส่องเพื่อตรวจสอบร่างกายทั้งในช่องปาก มือ เท้า และผิวหนัง แขนขา

นอกจากนี้ ยังต้องสังเกตว่าเด็กมีน้ำมูกหรือไม่ มีลักษณะอย่างไร พร้อมขอความร่วมมือผู้ปกครอง หากเด็กไม่สบายให้ดูแลตัวเองที่บ้านจนกระทั่งหายดี หากกรณีมาโรงเรียนแล้วเด็กมีไข้หรือมีอาการผิดปกติ ก็จะมีพยาบาลมาดูแลแยกเด็กออกไปอยู่ที่ห้องพยาบาล แล้วแจ้งผู้ปกครองให้พาเด็กไปตรวจที่หน่วยพยาบาลปฐมภูมิมหาวิทยาลัยขอนแก่น หากตรวจแล้วไม่พบเป็นโรคติดต่อให้ผู้ปกครองพาเด็กกลับมาเรียนในห้องเรียนได้ โดยต้องนำหลักฐานการตรวจจากแพทย์มายืนยันด้วย แต่หากมีอาการป่วยให้ผู้ปกครองพาเด็กไปรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป

 

ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศในการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวเสริมอีกว่า ศูนย์ความเป็นเลิศในการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีมาตรการที่เข้มข้นและมีประสิทธิภาพในการดูแลเด็ก 218 คน ทำให้ไม่เกิดการแพร่ระบาดของ “อะดีโนไวรัส” ภายในศูนย์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นกุมารแพทย์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการควบคุมโรคติดต่อเข้ามาช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ขณะเดียวกันยังมีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับข้อมูล องค์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคในเด็กให้ผู้ปกครองและครูได้เห็นแนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพ และป้องกันโรคติดต่อในเด็กไปในทิศทางเดียวกัน

ไม่เพียงการจัดการดูแลภายในเท่านั้น แต่ศูนย์ความเป็นเลิศในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยังมีแผนในการร่วมมือกับเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการพัฒนาหลักสูตรปฐมวัย เพื่อบูรณาการทั้งด้านสุขภาพและด้านการเรียนการสอน ตอบโจทย์การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพของสภาการพยาบาลและกรมอนามัย นำไปสู่การสร้างหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้ได้ในระดับประเทศ ควบคู่กับการเป็นพื้นที่เปิดรับนักศึกษาเข้ามาฝึกสหกิจศึกษา ให้ได้เรียนรู้การเรียนการสอนและดูแลเด็กปฐมวัยจากการทำงานจริงอีกด้วย

ข่าว : ผานิต ฆาตนาค
ภาพ : วัชรา น้อยชมภู

Scroll to Top