การรับฟังเสียงของลูกค้ามีความสำคัญต่อการปรับปรุงสินค้าและพัฒนานวัตกรรมของภาคเอกชนฉันใด การรับฟังเสียงของประชาชนก็มีความสำคัญต่อการยกระดับบริการสาธารณะของภาครัฐฉันนั้น
“การรับฟังเสียงจากสื่อสังคม” (Social Listening) เป็นแนวคิดและเครื่องมือที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ที่ช่วยให้องค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ สามารถติดตามรับฟังและวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการได้ ในวันที่ 22-23 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา COLA KKU วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับจากการรับฟังเสียงของประชาชนจากสื่อสังคมออนไลน์สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (Social Listening for Better Local Governance) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมการประยุกต์ใช้แนวคิดการรับฟังเสียงของประชาชนในการพัฒนาคุณภาพการบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การสัมมนานี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชามาบรรยายพิเศษในหัวข้องต่าง ๆ ต่อไปนี้
– “จากการรับฟังเสียงของลูกค้าสู่การรับฟังเสียงของประชาชน” โดย ผศ.ดร.ศักดิ์สุริยา ไตรยราช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเครือข่าย คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
– “เสียงของลูกค้า : การรับฟังเสียงของประชาชนเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์และยกระดับคุณภาพบริการสาธารณะ” โดย ผศ.ดร.ทพญ.รัชฎา ฉายจิต
– “บทเรียนและเคล็ดลับจากการประยุกต์ใช้เครื่องมือรับฟังเสียงจากสื่อสังคมออนไลน์” โดย นายพลเทพ รัตนดิลก และนายสุดเขต เชยกลิ่นเทศ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA)
– “แนวคิดและการใช้งานเครื่องมือ Mandala Analytics เพื่อการรับฟังเสียงจากสื่อสังคมออนไลน์” โดย วิทยากรพิเศษ บริษัท โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค จำกัด
– Workshop เพื่อพัฒนากระบวนงานรับฟังเสียงของประชาชน โดย ผศ.ดร.กฤษดา ประชุมราศี ดร.ปานปั้น รองหานาม ดร.ประสงค์ชัย เศรษฐสุรวิชญ์ ผศ.ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม และ อ. นรากร วรรณพงษ์
การสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยการใช้เครื่องมือรับฟังเสียงจากสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาล ยกระดับการตอบสนองความต้องการของประชาชน และพัฒนาคุณภาพบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น