เดินทางมาถึงครึ่งทางกันแล้ว สำหรับสกู๊ปพิเศษ เรื่องเล่า 60 ปี มข.ย้อนวันวานผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก ในวันนี้กับ EP.5 กองสื่อสารองค์กรชวนย้อนวันวานในรั้วสีอิฐ ช่วงปี 2548 ที่ไม่เพียงแต่บอกเล่าความทรงจำ แต่ยังเป็นการเปิดหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ และความภาคภูมิใจตลอด 60 ปีในมหาวิทยาลัยของพวกเรา
2548 ชินกร พิมพิลา บัณฑิต มข. จากคณะศึกษาศาสตร์
เขียนฝันไว้ข้างฝา คือ เรื่องเล่าจากความตั้งใจของ ชินกร พิมพิลา ที่ตั้งเป้าหมายของตัวเองไว้ตั้งแต่เรียนชั้น ม.5 โดยหวังว่าวันหนึ่งจะได้เป็น “นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” กระดาษแผ่นนี้เป็นเพื่อนร่วมทางที่คอยย้ำเตือนให้การอ่านหนังสือทั้งเช้าค่ำผ่านไปได้ด้วยดี จนวันที่ฝันเป็นจริงชื่อของเขาถูกติดอยู่บนกระดานประกาศรายชื่อผู้สอบติดเอนทรานซ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปี 2548 พ่อกับแม่ขับรถขนกระเป๋าเสื้อผ้าและของใช้จำเป็นจากสกลนครเข้าประตูมหาวิทยาลัยขอนแก่น สิ่งแรกที่เห็นคือรุ่นพี่เสื้อสีส้มมายืนโบกรถ โยกย้ายไปตามเสียงดนตรี ถือป้ายแจ้งเส้นทางหอพักอย่างคึกคักตั้งแต่เช้า การต้อนรับที่แสนอบอุ่นนี้เกิดขึ้นเสมอในรั้วสีอิฐ โดยเฉพาะกิจกรรมพาน้องใหม่ไหว้เจ้าพ่อมอดินแดง เป็นกิจกรรมสำคัญที่ทำให้รุ่นพี่ รุ่นน้องได้กลายเป็นลูกเจ้าพ่อ ซึ่งเมื่อเรียนจบไปแล้วก็ยังรู้สึกอยากจะกลับมาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกครั้ง เพราะเหมือนมีอะไรผูกพันอยู่เสมอ และการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องอย่างเชียร์กลางที่เปลี่ยนความกลัวงานรับน้องในอดีตกลายเป็นความประทับใจ จนทำให้ชินกร กลายเป็นหนึ่งในพี่เลี้ยงน้องใหม่และเทคนิคเชียร์ที่มาช่วยดูแลต้อนรับรุ่นน้องในปีต่อ ๆ ไปด้วยตัวเอง เพราะอยากส่งต่อความอบอุ่นนี้ให้คนอื่น ๆ
ด้านการเรียนการสอนของคณะศึกษาศาสตร์ในสมัยนั้นนับว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อสาขาวิชาการประถมศึกษาถูกปรับเปลี่ยนไปตามหลักสูตรใหม่ ทำให้เกิดเป็นสาขาเฉพาะทางครั้งแรก และเขาก็เลือกสาขาวิชาการสอนภาษาไทยตามความสนใจและชื่นชอบ โดยมีทั้งอาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์และอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้อย่างเข้มข้น
“อาจารย์มักบอกตลอดว่าตอนที่เรียนอยู่มีอะไรให้ถามอาจารย์ เพราะเมื่อพวกเธอกลายเป็นครูแล้วโอกาสที่จะได้ถามอาจารย์มันจะน้อยลงมาก ช่วงฝึกงานเมื่อเราได้รับมอบหมายคาบมาก ๆ ก็มีเหนื่อย มีท้อบ้าง แต่อาจารย์ก็ได้เปลี่ยนทัศนคติเราว่า ยิ่งเรามีชั่วโมงฝึกสอนมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับเราได้ฝึกฝีมือ เพิ่มประสบการณ์ และเรียนรู้การทำความรู้จักเด็กมากขึ้น เมื่อไปสอบบรรจุก็ถือว่าเรามีภาษีกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นอยากให้เราลองเปลี่ยนแนวคิดเพราะ ต่างที่คิด ชีวิตจึงต่าง”
และประโยคที่ว่า “ต่างที่คิด ชีวิตจึงต่าง” ก็กลายมาเป็นหลักยึดในอาชีพครูโรงเรียนบ้านดุงวิทยา จ.อุดรธานี ของชินกรเสมอมา สร้างสรรค์แนวคิดการเรียนการสอนที่อิสระ แปลกใหม่ ยกโมเดลต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ ปลดปล่อยจินตนาการเด็ก ๆ ลงมือทำเป็นตัวอย่างในทุกกิจกรรม และไม่จำกัดอยู่ที่คะแนนหรือเกรดเฉลี่ยจนถูกตั้งฉายาว่า “ครูนอกกรอบ” ที่ให้เด็กนักเรียนสอบได้ที่หนึ่งทั้งห้อง
“อยากขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ทำให้มีอาชีพ มีงาน มีเพื่อน และมีสังคมที่ดี ทำให้รู้สึกว่าพื้นที่แห่งนี้คือสังคมอุดมปัญญาโดยแท้จริง เพราะไม่เพียงแต่ผลิตบัณฑิตคุณภาพ แต่บัณฑิตทุกรุ่นยังเดินหน้าสร้างประโยชน์แก่สังคมในทุก ๆ อาชีพ เชื่อมั่นว่า 60 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่นย่อมแข็งแกร่งขึ้น เพราะผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน แม้ 60 ปีจะเท่ากับคนที่เกษียณแล้วแต่มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่เคยเกษียณ”
เรื่อง : ผานิต ฆาตนาค
ภาพ : ชินกร พิมพิลา, กองสื่อสารองค์กร
อ่าน : เรื่องเล่า 60 ปี มข.ย้อนวันวานผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation EP.1
เรื่องเล่า 60 ปี มข.ย้อนวันวานผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation EP.2
เรื่องเล่า 60 ปี มข.ย้อนวันวานผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation EP.3
เรื่องเล่า 60 ปี มข.ย้อนวันวานผ่าน 7 มุมมองศิษย์มอดินแดงหลาก Generation EP.4
ติดตามเรื่องราวของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในมุมมองอื่น ๆ ยุคต่อไป เร็ว ๆ นี้