คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สภาสถาปนิก สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดโครงการนิทรรศการเผยแพร่ผลงานออกแบบและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 7 ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 19 – 31 มกราคม 2567 ณ หอศิลป์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น
นิทรรศการดังกล่าวได้จัดพิธีเปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ ผู้แทนประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวที่มาของโครงการ รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ กล่าวเปิดงาน รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานโครงการฯ และศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ และ คุณศรัณญ อยู่คงดี องค์ปาฐก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการ
ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ ผู้แทนประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การสัมมนาสถาปัตยกรรมศาสตร์ศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539 เพื่อชี้ให้เห็นชัดเจน ถึงความสำคัญ และความจำเป็นของสภาคณบดีที่มีต่อการพัฒนาการศึกษา และวิชาชีพสถาปัตยกรรม ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2540 จึงได้มีการประชุมคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย / สถาบันต่างๆ ขึ้น และตกลงให้มีการร่างระเบียบ “สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย” มีเป้าหมายเพื่อที่จะยกระดับของคณะสถาปัตยกรรมให้ดีขึ้นและมีมาตรฐานระดับ สากล โดยผ่านกระบวนการความร่วมมือและใช้ความเข้มแข็งที่มหาวิทยาลัย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อให้เกิดผลต่อการผลิตและพัฒนาบัณฑิตของคณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ต่อมามีสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนเล็งเห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิกของสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย”
ปัจจุบัน ที่ประชุมสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Council of Deans for Architecture School of Thailand) หรือ CDAST ภาคีสมาชิกทั้ง 30 แห่ง โดยความร่วมมือของสภาสถาปนิก สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความตระหนักและเห็นความสำคัญอย่างยิ่งในการสานต่อเวทีที่สำคัญของคณาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ตามโครงการ “สถาปัตย์นิทรรศน์” ดังกล่าว จึงเห็นชอบให้จัดงานนิทรรศการแสดงผลงานออกแบบ “สถาปัตย์นิทรรศน์” ในปี พ.ศ. 2566 ขึ้นเป็นครั้งที่ 7 โดยมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.ชูพงษ์ ทองคำสมุทร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพ ภายใต้เงื่อนไขการขอตําแหน่งทางวิชาการโดยใช้ผลงานการออกแบบ ต้องแสดงในหอศิลป์ระดับชาติเท่านั้น โดยบทบาทของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์นอกเหนือจากภารกิจหลักในการผลิตสถาปนิก นักวิจัย คณาจารย์ และนักออกแบบสาขาต่าง ๆ ที่มีคุณภาพออกไปรับใช้ประเทศชาติแล้ว การเผยแพร่ผลงานออกแบบและสร้างสรรค์ยังเป็นพันธกิจหนึ่งในการสนับสนุนคณาจารย์ให้มีเวทีในการแสดงผลงานออกแบบ ซึ่งสะท้อนคุณภาพทางวิชาการ และวิชาชีพ
“นิทรรศการเผยแพร่ผลงานออกแบบและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 7 นี้ มีนักวิชาการส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 140 ผลงาน มากกว่าปกติเกือบเท่าตัว ในความคิดของคนทั่วไปอาจมองว่าระหว่างงานวิจัยกับงานออกแบบ ซึ่งคนมักจะมองว่างานออกแบบมันไม่เทียบเท่างานวิจัยแต่เราแสดงให้เห็นว่ากว่าเราจะดีไซน์ออกมาได้มันต้องผ่านองค์ความรู้การวิเคราะห์การสังเคราะห์ ซึ่งคือ Process เดียวกันกับงานวิจัยมันถึงทำให้งานออกแบบมีความยั่งยืนทรงคุณค่าและใช้งานต่อไปได้อย่างดี พอรวมทุกอย่างเข้าด้วยกันจึงออกมาเป็นงานสถาปัตย์นิทรรศน์ งานวันนี้จึงเป็นความร่วมมือกันในทุกระดับเพื่อช่วยนักออกแบบรุ่นใหม่ ให้ได้แลกเปลี่ยนผลงานนักวิชาการคนอื่น ๆ ทำให้สาขาวิชาชีพของเรามีความเข้มแข็ง”
คุณศรัณญ อยู่คงดี องค์ปาฐก ผู้ออกแบบเครื่องประดับใน MV LALISA ศิลปินเชื้อชาติไทย ที่โด่งดังระดับโลก เผยว่า “ ผมใช้คำว่าน้องทำให้ของทุกอย่างทรงคุณค่าและทรงประสิทธิภาพมากกว่า ผมคิดว่าของชิ้นนึงจะไม่มีคุณค่าเลย ถ้าของชิ้นนั้นไม่ได้ถูกใช้งานหรือตั้งไว้อยู่กับที่ของชิ้นอาจจะสวยเมื่ออยู่กับตู้ แต่เมื่อชิ้นนี้เข้าไปอยู่ในผู้คนของชิ้นนี้จะมีชีวิต ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อใครสักคนที่เป็นเจ้าของผลงานของเราเขาสวมใส่และงานชิ้นนี้จะกลับไปมามีชีวิตทุกครั้งที่เขาสวมใส่ ตอนที่เห็นเรารู้สึกว่าเราพยายามออกแบบงานให้ดอกไม้มันมีหลายlevelกำลังบาน กำลังเติบโต กำลังงอกเงยเราเห็นดอกไม้มีชีวิตภายใต้ผู้หญิงที่สวมใส่ ดังนั้นไม่ใช่ลิซ่าคนเดียวที่ทำให้งานมีชีวิต แต่ผู้หญิงทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือครอบครองงานของเราทุกคนก็ล้วนแต่ทำให้งานเรามีชีวิตเช่นเดียวกัน
“ดอกพุดซ้อน หมายถึง การอวยพรและการเจริญเติบโตซึ่งมันเป็นความหมายที่ดี ดอกไม้ทุกชนิดมีความหมายเชิงบวกทั้งหมด ดังนั้น การที่เราได้มีโอกาสเหมือนกล่าวคำอวยพรให้กับนักร้องที่กำลังจะดังระดับโลกโดยผ่านความเชื่อแบบไทย และการอยู่คนเดียวบนมิวสิควิดีโอจะสื่อสารได้หรือไม่ภายใน10วินาที แต่เมื่อเขาใส่แล้วมันทำให้เขาสนุกกับการเต้นมากขึ้นหรือรู้สึกมันพิเศษกับวันอื่นๆที่เขาใช้ชีวิตอยู่แค่นั้นก็ทำให้พลังของmvมันมากขึ้น”
“หน้าที่ของนักออกแบบไม่ใช่แค่ออกแบบของที่สวยที่สุด แต่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือรับใช้สังคมที่ทำให้สังคมน่าอยู่มากยิ่งขึ้น คำว่าสังคมไม่ได้หมายถึงภาพโดยรวมของประเทศไทยอย่างเดียวแต่มันอาจจะหมายถึงหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด คือ ครอบครัว ถ้าสมมุติของชิ้นนั้นสามารถทำให้พ่อกับแม่ใช้ชีวิต โดยเลี้ยงลูกได้ง่ายขึ้นของชิ้นนั้นสามารถทำให้นักศึกษานักเรียนมีสมาธิในการอ่านหนังสือนั้นก็เป็นวิธีการรับใช้สังคมประเภทหนึ่ง เรามีหน้าที่ทำของที่สามารถทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น”
นายปัญญาชน พรหมสาขา ณ สกลนคร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ระดับปริญญาโท เผยว่า “นักวิชาการมารวมกันได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำแนวคิดที่เรานึกไม่ถึง มองไม่เห็น นำไปปรับใช้ในวิทยานิพนธ์ การมองแนวคิดใหม่ แปลก จับและใช้ได้เลย เราอาจจะมองเห็ฯสิ่งเดียวกันแต่ตีความคนละแบบ นักวชาการทุกท่าน นำมาแลกเปลี่ยนทำให้หลากหลาย และทำงานในมุมมองใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะคุณศรัณญ ที่ออกแบบเครื่องประดับให้ลิซ่ามองในมุมผู้หญิงความงามที่เบิกบานและมีพลัง”
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอเชิญชวนทุกท่าน ชมนิทรรศการเผยแพร่ผลงานออกแบบและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 19 – 31 มกราคม2567 โดยวันที่ 25 มกราคม2567 เป็นช่วงเวลาเฉลิมฉลองวันสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่นในวาระครบ 60 ปี อีกด้วย ทั้งนี้ในปีหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.)รับช่วงต่อไปเป็นเจ้าภาพ มีคณะสถาปัตย์วิทยาเขตตรัง ครั้งหน้าพบกันที่ภาคใต้ของประเทศไทย
ข่าว : จิราพร ประทุมชัย , นางสาวกนกอร สังข์สุขฃ
ภาพ : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ