มนุษย์-สังคม ร่วมกับ ศึกษาศาสตร์ มข. เยือนประเทศจีน เดินหน้าสร้างเครือข่ายทางวิชาการ ประชาสัมพันธ์หลักสูตรเชิงรุก

เมื่อวันที่ 6 – 13 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารศรี สอทิพย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร ผู้แทนคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาจารย์ ดร.ชนะวิทย์ อนุสุเรนทร์ รองคณบดีฝ่ายแผนยุทธศาสตร์และการประกันคุณภาพ และผู้ช่วยศาสตราจารย์วัสมิลล์ วัชระกวีศิลป ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการต่างประเทศ พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.ณัฐพล มีแก้ว​ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาวิจัยชั้นแนวหน้าและการต่างประเทศ และ อาจารย์ ดร.นฤภรณ์ วุฒิพันธุ์ ประธานหลักสูตรการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะศึกษาศาสตร์ เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์หลักสูตรเชิงรุกในสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อตอบสนองต่อประเด็นยุทธศาสตร์ ปี พ.ศ. 2567 ด้านการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education Transformation) ซึ่งอยู่ภายใต้เสาหลักที่ 1 ด้านการส่งมอบคุณค่าแก่ประชาคม (People) ของมหาวิทยาลัย

โดยในการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งนี้ ได้เข้าพบและหารือกับมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ได้แก่ Leshan Normal University, Chengdu University, Southwest University, และ Sichuan International Studies University โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาในจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านทรัพยากรบุคคลและเศรษฐกิจ และเพื่อประชาสัมพันธ์หลักสูตรของคณะ ทั้งในลักษณะขอรับปริญญาและไม่ขอรับปริญญา รวมถึงหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อให้ได้ผู้เรียนที่มีคุณภาพและจำนวนตามแผนที่หลักสูตรกำหนด

ในการหารือกับ Leshan Normal University (LSNU) ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยครูในเมืองเล่อซาน มณฑลเสฉวน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารศรี สอทิพย์ ได้แนะนำเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในเบื้องต้น หลังจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์วัสมิลล์ วัชระกวีศิลป ได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา โดยเน้นด้านการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา เนื่องจาก LSNU เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งผลิตบุคลากรทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และมีความรู้และประสบการณ์กว้างขวางจากการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังจากนั้น คณะศึกษาศาสตร์ โดย อาจารย์ ดร. ณัฐพล มีแก้ว ได้แนะนำคณะศึกษาศาสตร์ในภาพรวม และนำเสนอหลักสูตรต่าง ๆ ของคณะฯ ทั้งในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา อาทิ การสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ การศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การบริหารการศึกษา เป็นต้น จากนั้น เป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางรัฐประศาสนศาสตร์ในประเทศไทย” โดย อาจารย์ ดร.ชนะวิทย์ อนุสุเรนทร์ ในนามตัวแทนจากสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ การบรรยายดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอทิศทางด้านการเรียนการสอนในสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากอาจารย์ในสาขาวิชาเดียวกันนี้ จาก LSNU เป็นอย่างมาก

ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา การจัดบรรยายพิเศษในสาขาวิชาที่มีความสอดคล้องกันของทั้งสองสถาบัน อาทิ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ของ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสาขาวิชาสังคมศาสตร์ ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ สาขาวิชาด้านนิติศาสตร์และการจัดการสาธารณะ LSNU การรับนักศึกษาเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งปัจจุบัน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้รับอาจารย์จาก LSNU จำนวน 2 คน เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

จากนั้นเดินทางไปยัง Chengdu University (CDU) เป็นมหาวิทยาลัยรัฐในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ซึ่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เน้นการนำเสนอเกี่ยวกับหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาภาษาไทยและสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนคณะศึกษาศาสตร์ เน้นการนำเสนอหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา และสาขาวิชาการบริหารการศึกษา สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน เนื่องจากอาจารย์ของ CDU มีความสนใจในการส่งอาจารย์จากภาควิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ประเทศไทย อีกทั้ง สาขาวิชาภาษาไทย ได้จัดโครงการบริการวิชาการ “การประกวดสุนทรพจน์และทักษะภาษาไทย” ณ College of Foreign Languages and Culture, CDU เมื่อ ปี พ.ศ. 2560 และในปัจจุบัน  มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ดังนี้ การบริการวิชาการ การเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา รวมถึงด้านการวิจัยอีกด้วย

สำหรับระดับปริญญาตรีนั้น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้นำเสนอหลักสูตรภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ ซึ่งจัดสอนโดยศูนย์ภาษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (HUSOLC) เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันต่างประเทศ โดยสามารถเทียบโอนหน่วยกิต ณ สถาบันต้นสังกัดได้ อนึ่ง ในหลักสูตรดังกล่าว นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ จะได้ฝึกงานในหน่วยงานต่าง ๆ อีกด้วย

ต่อมา Southwest University (SWU) มหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำในจีน ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ มีความร่วมมือด้านหลักสูตรสองปริญญา สาขาวิชาภาษาจีน และสาขาวิชาการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ มาเป็นเวลามากกว่าสิบปี ในการพบปะครั้งนี้ ฝ่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้าพบและหารือ กับผู้บริหารและอาจารย์จาก International College โดยมีการประชุมหารือแนวทางการดำเนินกิจกรรมภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาระหว่างสองมหาวิทยาลัย ที่นอกเหนือจากความร่วมมือด้านหลักสูตรสองปริญญา เช่น การแลกเปลี่ยนอาจารย์ การจัดบรรยายพิเศษทางออนไลน์ และการศึกษาในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา

ส่วนคณะที่สอง คือ College of National Governance ซึ่งได้หารือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนอาจารย์ นักศึกษา การจัดบรรยายพิเศษทางออนไลน์ และการศึกษาในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และสาขาวิชาอื่น ๆ ที่มีความสอดคล้องกัน

จากนั้น คณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เดินทางไปยัง Sichuan International Studies University (SISU) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยรัฐในเมืองเฉิงตู มีความเชี่ยวชาญในด้านภาษาต่างประเทศ ได้นำเสนอหลักสูตรที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคณะ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน และมีความเป็นนานาชาติ

ในการเดินทางไปในครั้งนี้ ทั้งสี่มหาวิทยาลัยได้ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างอบอุ่น ซึ่งสนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี นำมาซึ่งการทำความร่วมมือทางวิชาการในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคนและประเทศร่วมกันในอนาคต

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวและภาพ : กลุ่มการต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Scroll to Top