กลายเป็นอีกก้าวหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบดิจิทัล เมื่อ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แจ้งข่าวดีว่า อว.ออกประกาศ เรื่องการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่อดิจิทัลภายใต้ใบรับรองดิจิทัล Thai University Consortium (TUC) ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เพื่อให้หน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งในสังกัด อว.สามารถปรับใช้ในงานทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภายใน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
กว่าจะมีระบบ TUC ตามประกาศในครั้งนี้ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการพัฒนาระบบว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นต้อง Work from home จึงจำเป็นต้องหาเครื่องมือบางอย่างมาสนับสนุนตามนโยบาย Digital Transformation เพื่อลดการรับ-ส่งเอกสารในรูปแบบกระดาษ นำมาสู่การพัฒนาและใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Document) ที่มีความน่าเชื่อถือและพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 โดยให้บุคลากรทุกคนใช้และลงนามด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature) และมีระบบการรับรองลายเซ็นที่มีความน่าเชื่อถือ เรียกว่า Certification Authority : CA
“ช่วงเริ่มพัฒนา เรามองไว้แล้วว่าจะสร้างระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่เพื่อใช้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นเท่านั้น แต่ต้องการให้ระบบนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในระดับหน่วยงาน และระดับประเทศ หลังใช้งานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ในระยะเริ่มแรกได้ร่วมกับอีก 7-8 มหาวิทยาลัย ขยายการใช้งานภายใต้การรับรองโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทย หรือ Thai University Consortium (TUC) ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้งาน”
ไม่เพียงความน่าเชื่อถือ ความสะดวกสบาย และความรวดเร็วในการใช้งานเท่านั้น แต่การลงลายเซ็นดิจิทัล ภายใต้ใบรับรองดิจิทัล TUC ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อลายเซ็นดิจิทัล ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและเป็นที่รู้จักทั่วไป ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายต่อปี 1,500/คน ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการออกลายเซ็นดิจิทัลในมหาวิทยาลัยแล้วกว่า 12,000 คน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้อย่างน้อย 15 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งการใช้ระบบนี้ในการทำงานด้านเอกสารยังช่วยลดการใช้กระดาษในระบบมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มากกว่า 40% ตั้งแต่การใช้งานในปีแรก จึงใช้งานต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว
เมื่อประสบความสำเร็จทั้งในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และในเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยช่วงแรกแล้ว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบนี้จึงได้ขยายผล โดยการจัดตั้ง Thai University Consortium Certification Authority (TUC-CA) ขับเคลื่อนระบบลายมือชื่อดิจิทัล – รองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 114 แห่ง เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 และล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ก็ได้กำหนดนโยบาย e-Document เป็นเรื่องสำคัญ และชู TUC-CA ออกมาเป็นประกาศกระทรวงเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
“เป็นเรื่องน่ายินดีที่ระบบที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาขึ้นมานี้ ไม่ได้ทำและใช้อยู่ภายในเท่านั้น แต่ยังขยายผลไปยังหน่วยงานอื่น ๆ จนกลายเป็นที่ยอมรับในความเป็นดิจิทัลภาพใหญ่ โดยมีกระทรวง อว.เป็นผู้นำในการใช้งาน”
ด้าน อ.ดร.กิตติ์ เธียรธโนปจัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล กล่าวเสริมถึงขั้นตอนการพัฒนาระบบ TUC ว่า โจทย์ที่ได้รับมา คือ การสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ดังนั้น จึงมีกรอบความคิดว่าควรมีองค์กรที่ทุกคนเชื่อถือมาเป็นตัวกลาง คล้ายกับบัตรประชาชนที่เป็นเอกสารรับรองจากกรมการปกครอง การสร้าง TUC ก็เปรียบเสมือนองค์กรคล้าย Trusted Third Party ซึ่งเป็นตัวกลางช่วยรับรององค์กรย่อย แล้วองค์กรย่อยก็จะไปรับรองตัวบุคคลที่อยู่ในสังกัดต่อไป โดยระบบนี้ใช้เทคโนโลยีระบบรหัสแบบกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure : PKI) ซึ่งเกิดขึ้นมานานและใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม
“ข้อดีของ TUC คือ ใช้งานได้กับ PDF Reader ทุกตัว ทั้ง Adobe หรือ Foxit เป็นการช่วยยืนยันตัวตน ตรวจสอบที่มาได้ ลดปัญหาการปลอมแปลงลายเซ็น ปลอมแปลงเอกสาร และการจัดการเอกสารต่าง ๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดขั้นตอนการทำงาน และลดกำลังคนในการส่งเอกสารด้วย ในต่างประเทศมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย บางประเทศเริ่มใช้ในการทำสัญญาแล้ว”
ทั้งนี้ ในอนาคตหวังว่าระบบ TUC นี้จะขยายการใช้งานไปได้เป็นวงกว้าง แต่ผู้ใช้งานก็ต้องคำนึงถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองด้วย โดยไม่ควรนำ Digital ID ของตัวเองไปแจกจ่ายให้คนอื่น หรือเปิดเผย Password ของตัวเองให้ผู้อื่นทราบ และในอนาคตเร็ว ๆ นี้คาดว่าแอปพลิเคชันสำหรับการใช้งาน TUC ทั้ง Adobe หรือ Foxit จะพัฒนาไปสู่การใช้งานบนไอแพด, แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน ได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นในยุคดิจิทัล
KKU shows the background of “TUC Digital Certification System” that assists MHESI to kickoff the use of electronic documents among organizations