“แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” กับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care)

     เมื่อผู้ป่วย ป่วยเป็นโรคระยะสุดท้าย ขั้นตอนต่อไป คือการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ท่ามกลางญาติหรือผู้ดูแล ทั้งยังต้องเตรียมพร้อมและดูแลสภาพจิตใจของคนในครอบครัว

นพ.อรรถกร รักษาสัตย์ อาจารย์ประจำหน่วยการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
นพ.อรรถกร รักษาสัตย์ อาจารย์ประจำหน่วยการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

   นพ.อรรถกร รักษาสัตย์ อาจารย์ประจำหน่วยการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  สะท้อนว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) หมายถึง การดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค ถ้าดูตามระยะเวลาก็คือกลุ่มที่เราคาดการณ์ว่าระยะเวลาเหลืออยู่ในช่วงหนึ่งปีสุดท้ายของชีวิต   

แฟ้มภาพจาก Palliative Ward โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
แฟ้มภาพจาก Palliative Ward โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

      สำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) ถือเป็นการดูแลแบบเป็นองค์รวม ไม่ว่าจะเป็น มิติทางด้านร่างกาย ตัวโรคเป็นยังไงยังจะรักษาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีอาการแทรกซ้อนที่หลากหลาย หากเราไม่ได้จัดการกับอาการเหล่านี้จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยถดถอยลง ทั้งนี้เราต้องมีการดูแลทางด้านจิตใจทั้งผู้ป่วยและครอบครัวด้วย

แฟ้มภาพจาก Palliative Ward โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
แฟ้มภาพจาก Palliative Ward โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

      “แต่ในทางกลับกันเมื่อได้พูดคุยกันผู้ป่วยแล้วนั้น โดยส่วนใหญ่เกิน 90% พบว่า ถ้าเขารับรู้สถานการณ์ว่าเขาอยู่ในห้วงสุดท้ายของชีวิตแล้วก็ไม่อยากจะยืดเยื้อความตายในวาระสุดท้าย โดยจะเห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ การสื่อสาร ซึ่งมีความสำคัญมากในการที่จะสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ  ต้องมีการพูดคุย มีการวางแผนดูแลล่วงหน้าให้เขาได้รับรู้ความเจ็บป่วย ณ ปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและครอบครัวในอนาคตจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง เพื่อวางแผนรับมือจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงการสื่อสารเกี่ยวกับมิติสุดท้ายของชีวิต คือ เรื่องจิตวิญญาณ ซึ่งหมายถึงอะไรก็ตามที่ทําให้คนไข้มีความผูกพันกับสิ่งนั้น เป็นแรงผลักดันให้คนไข้อยากมีชีวิตอยู่ต่อ ยังไม่พร้อมที่จะจากไป ต้องการทําสิ่งที่ยังติดค้างให้เรียบร้อยก่อน เราจะต้องมีการพูดคุยสอบถาม รวมทั้งให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพไปจนวันสุดท้ายของตนเอง ช่วยให้เคลียร์ปมทางด้านจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน เพราะสุดท้ายผู้ป่วยที่ไปสบายคือผู้ป่วยที่ไม่ติดค้างอะไร จะไม่มีอาการกระสับกระส่ายทุรนทุราย ซึ่งเป็นความปรารถนาครั้งสุดท้าย​ของผู้ที่กำลังจะจากไป​…  

ศูนย์การุณรักษ์ (Karunruk Palliative Care center)
ศูนย์การุณรักษ์ (Karunruk Palliative Care center)

        ดังนั้น “หมอเวชศาสตร์ครอบครัว” ถือเป็นหมอที่ค่อนข้างจะมีพื้นฐานทางด้านการสื่อสารได้ดี ทั้งการสื่อสารระหว่างหมอกับผู้ป่วย หมอกับครอบครัวผู้ป่วย รวมถึงในทีมหมอด้วยกันเอง บางทีผู้ป่วยหนึ่งคนอาจมีหมอเวียนมาดูหลายคน ซึ่งบางครั้งหมอแต่ละคนอาจวินิจฉัยแตกต่างกัน แต่หมอเวชศาสตร์ครอบครัวจะมีการสื่อสารกับหมอในทีมสุขภาพแต่ละทีมต่างๆ ว่า มีแผนการรักษาอย่างไร จากนั้นเอาแผนการรักษาทั้งหมดมาผสมผสานรวมกัน แล้วดูอีกครั้งว่าแผนการรักษาไหนเป็นไปได้มากที่สุดเหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด ตรงตามความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวมากที่สุด และที่สำคัญต้องสื่อสารเป็นภาษาที่ชาวบ้านทุกคนเข้าใจได้ง่าย แล้วจึงตกลงแนวทางการดูแลรักษาร่วมกัน สุดท้ายส่งแผนการรักษาตรงนี้ให้กับหมอแต่ละสาขาแต่ละทีม โดยทุกทีมจะได้รู้เห็นตรงกันในการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้แนวทางการรักษาทุกทีมเดินไปในเส้นทางเดียวกัน

         ตนในฐานะผู้ปฏิบัติงานอยู่ใน ศูนย์การุณรักษ์ (Karunruk Palliative Care center) ซึ่งเป็นศูนย์ที่ทํางานด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และมีการอบรมบุคลากรมากกว่า 5,000 คน ทั้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทั้งนี้ ในส่วนของแพทย์ พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รวมถึงเวลาที่เราลงไปหน้างานไปดูตามเขตสุขภาพ จังหวัดต่างๆ สิ่งที่เรามักจะเห็นคล้ายๆกันก็คือแพทย์ที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ เป็นแพทย์ เวชศาสตร์ครอบครัว ทั้งในระดับของการทําภายในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลอําเภอ มองในภาพรวมก็ยังเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่ส่วนใหญ่จะดูแลผู้ป่วยในกลุ่มนี้ ยิ่งถ้าหากมองไปที่การดูแลในชุมชนหรือการดูแลในระดับปฐมภูมิ ยิ่งชัดเจนเลยว่าการที่จะไปดูแลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลหรือเยี่ยมบ้าน แทบจะไม่มีแพทย์สาขาอื่นที่จะออกไปดูแลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลจะมีเฉพาะ “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว”

     สุดท้ายสิ่งที่ตนเองมีความกังวลมากก็คือ เรื่องของกรอบอัตรากำลังและกรอบการทํางานในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) ที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และการดูแลผู้ป่วยก่อนจากไป ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของชีวิต ก็ยิ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” กับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) หากการดำเนินนโยบายมีความชัดเจน จะส่งผลดีต่อทั้งความก้าวหน้าของบุคลากร และการยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศมากยิ่งขึ้น

 

รวบรวม เรียบเรียง : เบญจมาภรณ์ มามุข
ภาพ : https://www.karunruk.org/palliative-wardpalliative-ward/
ข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ Hfocus

Scroll to Top