“อีสานโพล” เปิดผลสำรวจเศรษฐกิจครัวเรือน ส่วนใหญ่หนุนจ่าย “เงินดิจิทัล” ทุกคน-ใช้ที่ไหนก็ได้

วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2566 อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสาน ไตรมาส 3/2566 และคาดการณ์ไตรมาส 4/2566 โดย รศ. ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนด้านต่างๆ และคำนวณดัชนีภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาส 3/2566 และคาดการณ์ไตรมาส 4/2566 พร้อมประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจและภาพรวม และมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายเงินหมื่นดิจิทัลทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6 – 8 ตุลาคม 2566 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,097 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับ รายได้และทรัพย์สินครัวเรือน โอกาสหางานใหม่หรือเริ่มธุรกิจใหม่ การหมุนเงินเพื่อใช้จ่ายและชำระหนี้ และการซื้อของมูลค่าสูง และทำการประมวลผลได้ดัชนีต่างๆ ซึ่งค่าดัชนีมีค่าระหว่าง 0 – 100 หากดัชนีอยู่ระหว่าง 0 – 19.9 คือ แย่มาก ระหว่าง 20.0 – 39.9 คือ แย่ ระหว่าง40.0 – 59.9 คือ ปานกลาง/พอใช้ ระหว่าง 60.0 – 79.9 คือ ดี และ ระหว่าง 80.0 – 100 คือ ดีมาก รายละเอียดเป็นดังนี้

  • 1) ดัชนีรายได้และทรัพย์สินครัวเรือนไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 2 หมายความว่า รายได้และทรัพย์สินครัวเรือนอีสาน อยู่ในระดับแย่ และแย่กว่าไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 33.1 และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 33.4
  • 2) ดัชนีโอกาสหางานใหม่หรือเริ่มธุรกิจใหม่ไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 39 หมายความว่า โอกาสหางานใหม่หรือเริ่มธุรกิจใหม่ในอีสาน อยู่ในระดับแย่ และดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 32.7 และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 33.3
  • 3) ดัชนีการหมุนเงินเพื่อใช้จ่ายและชำระหนี้ไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 31.7 หมายความว่า การหมุนเงินเพื่อใช้จ่ายและชำระหนี้ของครัวเรือนอีสาน อยู่ในระดับแย่ และแย่กว่าไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 9 และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 33.7
  • 4) ดัชนีการซื้อของมูลค่าสูงไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 5 หมายความว่า ความมั่นใจของครัวเรือนอีสานในการซื้อของมูลค่าสูง อยู่ในระดับแย่ และดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 32.4 และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 34.4
  • 5) ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสานไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 32.3 หมายความว่า ภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสานโดยรวม อยู่ในระดับแย่ และแย่กว่าไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี8และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 33.7

เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3/2566 พบว่า ได้คะแนน 31.86 เต็ม 100 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2566 ซึ่งดัชนีเท่ากับ 27.8 ขณะที่ผลงานโดยรวมของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 3/2566 ได้คะแนน 33.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2566 ซึ่งดัชนีเท่ากับ29.4 ทั้งนี้รัฐบาลเคยได้คะแนนด้านเศรษฐกิจต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งได้คะแนนนเพียง 20.3 และได้คะแนนผลงานโดยรวมเพียง 19.3 จากการระบาดอย่างหนักของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตา

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ท่านคิดว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ควรแจกให้ทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป หรือแจกให้เฉพาะกลุ่มรายได้น้อย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.2 ต้องการให้แจกทุกคน รองลงมาร้อยละ 22.2 ต้องการให้แจกเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ตามมาด้วยร้อยละ 9.4 ระบุว่าควรนำงบไปทำอย่างอื่น และร้อยละ 4.2 ระบุว่าไม่แน่ใจ

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ท่านคิดว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ควรมีเงื่อนไขการใช้เงินอย่างไร พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 57.7 ระบุว่าให้ใช้ที่ไหนก็ได้ รองลงมาร้อยละ 32.2 ระบุว่าให้ใช้ได้ภายในจังหวัด ตามมาด้วยร้อยละ 7.4 ระบุว่าให้ใช้ได้ภายในอำเภอ และมีเพียงร้อยละ 2.7 ระบุว่าให้ใช้ได้ภายในรัศมี 4  กิโลเมตร ตามทะเบียนบ้านและอาจขยายรัศมีให้

ชงรัฐจ่ายเงินดิจิทัลฟรี 5,000 บ.-ปล่อยกู้ OD ดอกเบี้ยต่ำ 5,000 บ.

รศ.ดร.สุทิน ให้ความเห็นเพิ่มเติมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์และการเงินว่า เข้าใจถึงความกังวลของนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และภาคเอกชนที่ออกมาเตือนและให้คำแนะนำรัฐบาลในการทำนโยบายแจกเงินดิจิทัล และเข้าใจถึงความต้องการของประชาชนที่อยู่ในสภาพลำบากทางเศรษฐกิจและมีปัญหาหนี้สิน ประชาชนส่วนใหญ่จึงต้องการให้รัฐบาลแจกเงินช่วยเหลือในช่วงนี้

ทั้งนี้ รัฐบาลจึงควรรับฟังข้อคิดเห็นอย่างรอบด้านและนำมาปรับปรุงการทำนโยบายให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดประโยชน์สูงสุด และขออนุญาตเสนอแนวทางที่ยังไม่มีใครพูดถึงมาก่อนคือ อาจจะทำการปรับนโยบายเป็นแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็น 5,000 บาทแรกให้ฟรี ส่วน 5,000 บาทที่เหลือเป็นวงเงินหมุนหรือวงเงิน OD ดอกเบี้ยต่ำ ปลอดดอกเบี้ย 1-2 ปีแรก ซึ่งจะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณลงได้แต่ยังกระตุ้นเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงระดับเดิม และไม่สร้างผลกระทบด้านความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเงินและการคลังมากเกินไป ขณะที่ประชาชนยังมีวงเงินใช้ 10,000 บาท แต่จะใช้เงินเพื่อสิ่งที่จำเป็นมากขึ้นหรือเลือกใช้เพื่อการลงทุนทำธุรกิจหารายได้ และหากมีกำลังใช้หนี้คืนได้ จะยังมีวงเงินหมุนเวียนต่อไปในอนาคตในช่วงที่ยากลำบาก

“E-Saan Poll”shows the result of household economy survey and finds most supporting “digital money” for all to use everywhere

https://www.kku.ac.th/17018

Scroll to Top