มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการสัมมนา“TQC Plus Conference” สําหรับผู้บริหาร ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมการนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศด้วยเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ พร้อมรับการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ 67 (TQC Plus)
มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนโยบายในการส่งเสริมการนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศด้วยเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ โดยการสมัครขอรับการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQC Plus) จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ รวมทั้งการสนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกส่วนงานมีการพัฒนาคุณภาพในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ได้รับรู้ถึงทิศทางและนโยบาย ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในการปรับการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นรวมทั้งได้มีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความตระหนักให้กับบุคลากรภายในองค์กรถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปประยุกต์ใช้ จึงได้จัดโครงการ “สัมมนาเพื่อส่งเสริมการนำองค์กร สู่ความเป็นเลิศด้วยเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ สำหรับผู้บริหาร (TQC Plus Conference)” ขึ้น เป็นครั้งที่ 3 ในวันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2566 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดโครงการ
ต่อจากนั้นเป็นการนำเสนอในประเด็น การดำเนินการตามเกณฑ์ TQA รายหมวด จากศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา นำเสนอ TQC+ : Operation ในประเด็น สําคัญดังนี้ การดําเนินการตามเกณฑ์ TQA ในหมวดที่รับผิดชอบ (หมวดกระบวนการ และผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้อง) ระดับพัฒนาการ Band/คะแนนที่ต้องยกระดับไป TQC plus โอกาสในการพัฒนาและปรับปรุงตามผลการประเมินปีการศึกษา 2563-2564 การปรับปรุงที่สําคัญ และผลลัพธ์ที่โดดเด่น และอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อน TQC plus ที่เกี่ยวข้อง ปิดท้ายด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพร้อมซักถามในวงสัมมนา ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงสัมมนากันอย่างเข้มข้น โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ประกอบไปด้วย ผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับส่วนงาน ผู้อำนวยการ ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA Assessor) บุคลากรสังกัดกองพัฒนาคุณภาพการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมรับการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQC Plus) ในปี 2567
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนโยบายที่จะสมัครขอรับการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQC Plus) ในปีพ.ศ.2567 ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการสมัครขอรับการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQC Plus) และเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยได้รับรู้ถึงทิศทางและนโยบาย ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในการนำแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปประยุกต์ใช้ อย่างถูกต้องสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน มหาวิทยาลัยจึงได้จัดโครงการสัมมนาเพื่อส่งเสริมการนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ด้วยเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ สำหรับผู้บริหาร “TQC Plus Conference” ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 แล้ว และจะจัดอย่างต่อเนื่องทั้งปีงบประมาณ 2566-2567 ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอ TQC Plus ด้าน Operation โดยได้รับเกียรติจากท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา นำเสนอให้ผู้บริหารและบุคลากรภายใน ระดับส่วนงานและหน่วยงานได้รับรู้ถึงทิศทางและนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในการนำแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปประยุกต์ใช้ในด้านบุคลากร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดโครงการในวันนี้จะบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
TQC+: Operation มีช่วงคะแนน 50-65% ขึ้นไป ในแผนพัฒนาคุณภาพหมวด 6 หัวข้อ 6.1ก(1,3) การทบทวนการออกแบบ จัดการปรับปรุง และข้อกำหนดของกระบวนการ 6.2ก การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการ การจัดการต้นทุน ทุกฝ่าย 6.2ค(1)(2) การเพิ่มประสิทธิผลของการรักษาความปลอดภัย สภาพแวดลอมในการทำงานที่ปลอดภัย (Safety Environment) แผนความเสี่ยงเพื่อการเตรียมพร้อมต่อภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน 6.2ข การเพิ่มประสิทธิผลของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และผลลัพธ์ 7.1
ลักษณะที่สำคัญของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เกณฑ์มีเจตจำนงที่เรียบง่าย โดยเจตจำนงของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ คือ การช่วยองค์กร ไม่ว่าขนาดใด หรืออยู่ในธุรกิจใด ตอบคำถามที่ท้าทาย 3 ข้อ คือองค์กรดำเนินการได้ดีอย่างที่ควรเป็นหรือไม่ องค์กรรู้ได้อย่างไร องค์กรควรปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไร ด้วยวิธีการอย่างไร ซึ่งจากการท้าทายตนเองด้วยการตอบคำถามของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ องค์กรจะได้สำรวจตนเองว่าได้สำเร็จในสิ่งที่สำคัญต่อองค์กรแล้วหรือไม่. คำถามของเกณฑ์ครอบคลุม 7 ด้านที่สำคัญในการจัดการและการดำเนินการขององค์กร (แบ่งย่อยออกเป็นกระบวนการ 6 หมวดที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน และผลลัพธ์ 1 หมวด) ได้แก่ การนำองค์กร (Leadership) กลยุทธ์ (Strategy) ลูกค้า (Customers) การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis, and Knowledge Management) บุคลากร (Workforce) การปฏิบัติการ (Operations) และ ผลลัพธ์ (Results)
สำหรับเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมีเนื้อหาของข้อกำหนดและการประเมินที่เทียบเคียงได้กับรางวัลคุณภาพแห่งชาติต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นที่ยอมรับว่าเป็นกรอบการบริหารจัดการเพื่อนำองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ การใช้เกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยมุ่งมั่นพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อประโยชน์ของลูกค้า บุคลากร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม ประเทศชาติ และองค์กรนั่นเอง
ภาพ ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ข้อมูล : กองพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น