มข. เสริมประสิทธิภาพบุคลากร หนุนผลิตสื่อแนวใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบและจัดทำสื่อการเรียนการสอนออนไลน์  (Production House forMOOCs or SPOCs) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรสายสนับสนุนด้านการผลิตสื่อ ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอนและภารกิจที่สำคัญอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย สามารถช่วยเหลืออาจารย์ผู้สอนในการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ จึงต้องได้รับการพัฒนา ส่งเสริมทักษะความรู้ความสามารถเฉพาะด้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันตามยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งสนับสนุนภารกิจของมหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรุงเทพมหานคร และ จังหวัดระยอง

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 เข้าศึกษาดูงาน ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ดูงานด้านระบบการเรียนการสอนทางไกล ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการ รวมทั้งกรอบกฏเกณฑ์ โดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่นำระบบการเรียนการสอนทางไกลมาใช้ โดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่มีชั้นเรียน เปิดรับลงทะเบียนออนไลน์ มีระบบทดลองเรียน หากต้องการสัมฤทธิบัติต้องจ่ายเงินเพิ่ม ในอนาคตจะเปิด MOOC เป็นของตัวเอง ปัจจุบันมีรายวิชาอยู่ทั้งบน ThaiMOOC และ cMOOC โดยการทำงานจะแบ่งเป็นระบบ แบ่งหน้าที่กันชัดเจน คนประสาน ออกแบบบทเรียน ผลิตสื่อ ถ่ายทำ ตัดต่อ กราฟิก ตรวจสื่อ ถอดเสียงเพื่อทำสคริป อัพขึ้นระบบฯ พร้อมกับแลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิต Thai MOOC ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการโดยศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแม่ข่าย ผลิตร่วมกับมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภายใต้โครงการของ TCU พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชมห้องบันทึกสื่อ ห้องสตูดิโอ ห้องควบคุม มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเป็นระบบ

 

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 เข้าศึกษาดูงาน ณ บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7 HD) เยี่ยมชมการถ่ายทำรายการสด สนามข่าว7สี บันทึกเทปรายการเจาะสนาม เยี่ยมชมสตูดิโอรายการ disney club ห้องควบคุมรายการ ผู้เข้าร่วมดูงานตื่นตาตื่นใจกับระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมทั้งการทำงานเป็นอย่างระบบและบุคลากรที่เพียงพอ จากนั้นเดินทางต่อไปยัง บ้านสวนอ่าวไข่ จังหวัดระยอง

 

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 เริ่มต้นด้วยการอบรมหัวข้อ “สร้างสรรค์สื่อแนวใหม่เพื่อการนำเสนอในยุคดิจิทัล (Cloud Digital Media for Presentation)” เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถด้านการผลิตสื่อ โดย ผศ.ดร.อนุชา โสมาบุตร รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน ต่อด้วยการรายงานความคืบหน้าของห้องผลิตสื่อแนวใหม่ ภายใต้โครงการ Production House for MOOCs โดย ผศ.ดร.พงษ์พิทยา สัพโส ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2563 นี้ จะเปิดให้อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้ามาใช้งานในการบันทึกสื่อการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งบุคลากรผลิตสื่อหรือเครือข่ายผลิตสื่อ DM (Digital Media) จะเป็นผู้คอยสนับสนุนการผลิตสื่อที่มีคุณภาพแก่อาจารย์ในแต่ละคณะของมหาวิทยาลัยขอนแก่นต่อไป

ผศ.ดร.ศักดิ์สุริยา ไตรยราช
ผศ.ดร.อนุชา โสมาบุตร รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน

ช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เพื่อสร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้แก่เครือข่าย DM โดย ผศ.ดร.ศักดิ์สุริยา ไตรยราช เป็นกระบวนกร พร้อมกับทีมบุคลากรศูนย์นวัตกรรมฯ สร้างความสุขและรอยยิ้มแก่เครือข่ายเป็นอย่างมาก

 

นายเสน่ห์ ปัญโญ ประธานเครือข่าย DM กล่าวว่า “ได้รับความรู้ใหม่ๆ จากการศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ ช่อง 7 HD ซึ่งได้เห็นการบริหารจัดการงานด้านสื่อเทคโนโลยีว่าเขาจัดการทำงานทั้งระบบ e-Learning และระบบการบันทึกรายการโทรทัศน์ การถ่ายทอดสด อย่างเป็นระบบ ด้วยอาคารสถานที่ บุคลากรที่มีความสามารถ ได้เห็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยจัดเป็นระบบระเบียบมาก ส่วนศึกษาดูงานที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 HD นั้นได้รับความรู้และการต้อนรับอย่างดียิ่ง ทั้งให้ความรู้แก่ผู้ไปศึกษาดูงานอย่างเป็นกันเอง การปฏิบัติงานของแต่ละฝ่ายว่าเขาปฏิบัติงานกันอย่างไร พร้อมชมห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ สาธิตและอธิบายขั้นตอนการออกอากาศของทางสถานีทุกอย่างละเอียดเข้าใจชัดเจน เจ้าหน้าที่ทางสถานีให้คำอธิบายดีมากๆ ซึ่งจะนำความรู้ที่ได้นำไปพัฒนางานของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งความร่วมมือจากเครือข่าย DM ในการช่วยเหลืองานของมหาวิทยาลัย การเพิ่มศักยภาพให้กับงานที่ทำ อยากให้ทางผู้บริหารสนับสนุนการทำงานและงบประมาณเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ทันสมัย และสนับสนุนการศึกษาดูงาน สัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาองค์ความรู้สร้างสื่ออย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

นายเสน่ห์ ปัญโญ ประธานเครือข่าย DM KKU

 

ภาพ/ข่าว : กมลพร อรรคฮาต

Scroll to Top