สุดยอดผลงานแห่งปี วงโปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้าแชมป์ 3 สมัยซ้อน การประกวดดนตรีพื้นบ้านวงโปงลาง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานมหกรรมภูมิปัญญานันทนาการท้องถิ่นอีสาน ประจำปี 2566
เมื่อวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2566 กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดการประกวดดนตรีพื้นบ้านวงโปงลางชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมนันทนาการในเด็กและเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2566 ณ อุดรธานีฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าอุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม 2566 โดยมีนายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงาน
สำหรับการประกวดวันแรกในรุ่นอายุไม่เกิน 25 ปี มีวงที่ผ่านรอบคัดเลือกมา 5 วง ได้แก่ วงดนตรีพื้นบ้านอีสานเพชรพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด วงศิลป์อีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม วงโปงลางอรรคฮาตสี จังหวัดมหาสารคาม วงโปงลางผกาลำดวน จังหวัดศรีสะเกษ และ วงโปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลปรากฏว่า วงโปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัล “ชนะเลิศ” ดนตรีพื้นบ้านวงโปงลาง ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดผลงานแห่งปี และเป็นการครองแชมป์ถึง 3 สมัยซ้อน
นอกจากนี้ วงโปงลางสินไซ ยังได้รับรางวัลอื่น ๆ อีก 7 รางวัล คือ รางวัลเทิดพระเกียรติดีเด่น รางวัลเปิดวงดีเด่น รางวัลลูกทุ่งดีเด่น รางวัลซอดีเด่น รางวัลพิณดีเด่น รางวัลนางไหดีเด่น และรางวัลกั๊บแก๊บดีเด่น
ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวชื่นชมผลงานของวงสินไซ ครั้งนี้ว่า ผมขอชื่นชมยินดีกับวงโปงลางสินไซ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับรางวัล “ชนะเลิศ” เวทีนี้ ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์ 3 สมัย ปี พ.ศ.2563, 2565 และ 2566 จากความทุ่มเท และใส่ใจทุกรายละเอียดของทีมคณาจารย์ผู้ควบคุมทุกท่าน จนชนะใจกรรมการได้ด้วยแนวคิด “look Isan”
“วงโปงลางสินไซให้ความสำคัญกับ Soft Power ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่องลูกอีสาน นำมาสร้างสรรค์เป็นชุดการแสดงในครั้งนี้ ขอบคุณท่านอธิการบดี คณาจารย์ ศิษย์เก่า และนักแสดงสินไซทุกคนมาก ๆ ครับ และที่สำคัญขอบคุณกำลังใจจากแฟน ๆ สินไซทุกท่านที่ร่วมส่งแรงใจแรงเชียร์ในปีนี้”
ด้านนายกิตติกวิน โยธี ตัวแทนนักดนตรี กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากไม่คิดว่าตัวเองจะมายืนอยู่จุดนี้ได้ เพราะรุ่นพี่ทั้งสองรุ่นที่ผ่านมาครองแชมป์ไว้แล้ว 2 สมัย ตนรู้สึกกดดันมากแต่ก็พยายามฝึกซ้อมอย่างหนัก เพราะต้องรักษาแชมป์ต่อจากพี่ ๆ “ผมมองว่าสินไซเป็นมากกว่าวงโปงลาง เพราะสินไซ คือครอบครัว เราอยู่กันแบบพี่น้อง ช่วยเหลือกัน เวลาซ้อมมีพี่ ๆ มาดูมาเชียร์ให้กำลังใจ ซื้อขนม ซื้อข้าวมาให้กิน อบอุ่นมากครับ”
ส่วนนายณัฐิวุฒิ แสวงดี ตัวแทนนักแสดง กล่าวว่า ตั้งแต่ได้โอกาสเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกวงสินไซครั้งแรกก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจ เพราะเป็นหน้าที่ที่ทรงเกียรติ แต่ผมก็ได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่หลาย ๆ คนว่า “จงเป็นตัวเอง” และในที่สุด “ผมจึงทำไปด้วยความรู้สึก ตามเสียงเพลง ตามบรรยากาศหน้าเวที และเราก็ทำได้ครับ”
ด้านนายบุญโชค นาบำรุง ฝ่ายจัดการเสื้อผ้านักแสดง “คำเเรกเลยคือภูมิใจเเละดีใจมาก ๆ เเละเป็นคอสตูม 3 ปีซ้อน ปีนี้เป็นปีที่กดดันมากที่สุดเพราะต้องป้องกันเเชมป์ให้ได้” การแข่งขันในปีนี้มีโจทย์ใหญ่ คือข้อจำกัดของจำนวนสตาร์ฟ ทำให้กดดันและเหนื่อยมาก แต่สุดท้ายเราก็ชนะได้ที่ 1 อีกสมัย และถือว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่กับการแสดงที่ใช้สตาร์ฟเปลี่ยนชุดน้อยที่สุดในการประกวดเวทีนี้
ทั้งนี้ อาจารย์อาทิตย์ กระจ่างศรี ตัวแทนอาจารย์ผู้ควบคุมวง ในฐานะตัวแทนผู้ดูแลการฝึกซ้อม ระบุว่า พวกเราดีใจมากที่ปีนี้สามารถรักษาแชมป์ได้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และภูมิใจที่ได้ทำงานด้านวัฒนธรรมซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีนี้พวกเราทำงานกันหนักมากเนื่องจากต้องรักษาแชมป์ให้ได้ แม้จะมีเวลาที่กระชั้นให้เตรียมการแสดงได้เพียง 3 สัปดาห์ แต่พวกเราก็รื้อแนวคิดงานใหม่หมดทุกอย่าง จนได้แนวคิดเรื่อง “ลูกอีสาน-Look Isan” ก่อนจะแบ่งกันทำงานอย่างเต็มที่
ท้ายที่สุดพวกเราก็ผ่านมันมาจนได้เพราะเราเป็นลูกอีสาน “ลูกอีสานที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อพัฒนาบ้านตัวเองและเพื่อต้องการเชิญชวนให้ทุกคนหันกลับมามองเห็นอีสาน Look Isan ผมรู้สึกว่าการทำงานทุกครั้งของเราไม่ใช่แค่การประกวดวงโปงลางเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับผู้คนที่รักการทำงานด้านวัฒนธรรม ปีนี้ก็มีเครือข่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งนี้คือกำไรที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากรางวัลที่ได้รับมา”
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข
ข้อมูล ภาพ : ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล