เมื่อวันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริมนพร ทิพสิงห์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชวิศ เกตุแก้ว รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ์ วิจัย และการต่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ และผู้อำนวยการโครงการวิจัย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม Mangoes-based Circular Economy ภายใต้โครงการวิจัย “Circular X Creative Economy – แบบจำลองธุรกิจสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการจัดการเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปมะม่วง และเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่นๆ ในจังหวัดขอนแก่น” ในการนี้ ได้รับเกียรติอย่างยิ่งจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการเยี่ยมชมการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. และคณะวิจัยในโครงการ ร่วมเป็นเกียรติในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ด้วย
ศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกับคณะเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการวิจัย Circular X Creative Economy – แบบจำลองธุรกิจสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการจัดการเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปมะม่วง และเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่นๆ ในจังหวัดขอนแก่น โดยมีจุดมุ่งหมายในการยกระดับผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิมให้เป็นนวัตกรรมแบบ Sustainable Innovation และสิ่งสำคัญของความยั่งยืนที่ว่านั้น จะต้องเป็นแนวคิดหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำไปใช้แล้วเกิดประโยชน์อย่างชัดเจนในการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาสมดุล ไม่ว่าจะเป็นเชิงพาณิชย์ที่เกิดประโยชน์สำหรับผู้คน หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอบวิสัยทัศน์ของวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงความหลากหลาย (Diversity) เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) อันนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรม (Innovation) ด้วยการผสมผสานสังคมศาสตร์ศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (Interdisciplinary) ในสภาพแวดล้อมที่เป็นนานาชาติ (Internationalization)
ศาสตราจารย์ ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ และการจัดหาแนวทางในการแก้ปัญหาการสูญเสียอาหาร และขยะอาหารอย่างยั่งยืนเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้น ทางมหาวิทยาลัยมีการนำ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ มาเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการเพื่อช่วยเพิ่มความยั่งยืนทำเพื่อสังคม อีกทั้งยังสอดคล้องกับค่านิยมการอุทิศเพื่อสังคม (Social Devotion) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย ซึ่งในปีนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นสามารถครองอันดับ 1 ของประเทศ จำนวน 2 ด้านด้วยกัน คือ SDGs 2 – ZERO HUNGER การยุติความหิวโหย และ SDGs 4 – QUALITY EDUCATION การศึกษาที่มีคุณภาพ
โครงการวิจัยดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยเป็นระยะเวลา 1 ปี จากหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคการบริการ โดยคณะวิจัย มุ่งมั่นตั้งใจแก้ปัญหาเศษเหลือทิ้งจากมะม่วง และบริหารจัดการเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมมะม่วงแปรรูป บนพื้นฐานความคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม และเพื่อพัฒนานวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมมะม่วงแปรรูป ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของงานวิจัยและนวัตกรรมนี้ ที่ส่งผลต่อสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม บัดนี้ คณะวิจัยได้ดำเนินการบรรลุจุดประสงค์ของโครงการวิจัย วิสัยทัศน์ และพันธกิจของ บพข. แล้ว ในการใช้ประโยชน์ของผลงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชวิศ เกตุแก้ว รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ์ วิจัย และการต่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ และผู้อำนวยการโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้มีบริษัทที่ร่วมทุนจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทประกอบธุรกิจอาหารแปรรูปมะม่วง ภายใต้แบรนด์ “เลดี้ศกุลตลา” และบริษัทประกอบธุรกิจหัตถกรรมส่งออก ภายใต้แบรนด์ “สัมผัสแกเลอรี่” อีกทั้งยังสรุปภาพรวมและผลกระทบของโครงการวิจัย ซึ่งมีผลผลิตของแต่ละโครงการย่อย ดังนี้
โครงการที่ 1 ผลผลิตคือการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเป็นฐานข้อมูลของเครือข่ายจัดการแหล่งวัตถุดิบต้นน้ำ (Upstream Source) การส่งมอบของเหลือเพื่อนำเข้าสู่การผลิต และบริการปลายน้ำ (Downstream Customer) โดยครอบคลุมถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต กระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้า รวมถึงกระบวนการจัดการส่วนเหลือใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปมะม่วง
โครงการที่ 2 ผลผลิตคือช็อคโกแลตและเยลลี่กัมมี่ทำมาจากโกโก้บัตเตอร์ สกัดไขมันจากเมล็ดมะม่วง
โครงการที่ 3 ผลผลิตคือเยื่อจากเปลือกมะม่วงที่เป็นของเหลือใช้กระบวนการผลิตมะม่วงและกระดาษ A4 ที่เป็นกระดาษใช้แล้วทั้งสองด้านในสำนักงาน นำมาปรับสัดส่วนผสมเพื่อให้ได้สูตรที่ดีที่สุดในการใช้งาน ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์
โครงการที่ 4 ผลผลิตคือเครื่องหนังชีวภาพโดยไม่ใช้เครื่องหนังจากสัตว์ อีกทั้งกระบวนการผลิตยังไม่ใช้สารเคมี เหมาะสำหรับกลุ่มผู้รักเครื่องหนังทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเหมาะสมสำหรับชาววีแกนอีกด้วย
โครงการที่ 5 ผลผลิตคือผลิตภัณฑ์หนังจากของเหลือทิ้งจากมะม่วง ที่แสดงถึงคุณค่าและอัตลักษณ์ของไทย
ทั้งนี้ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทางด้านวิชาการและการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายพันธมิตรโครงการวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม Mangoes-based Circular Economy ภายใต้โครงการวิจัย “Circular X Creative Economy – แบบจำลองธุรกิจสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการจัดการเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปมะม่วง และเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่นๆ ในจังหวัดขอนแก่น” จะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป