นักวิชาการ มข.คลี่ปม #แผ่นดินไหวพิษณุโลก พร้อมแนะรับมือเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

นักวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คลี่ปมแผ่นดินไหวพิษณุโลก พบข้อมูลเป็นพื้นที่นอก 16 รอยเลื่อนมีพลังของประเทศไทย เหมือนถูกซ่อนอยู่ใต้พรม พร้อมแนะนำวิธีรับมือเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว

#แผ่นดินไหวพิษณุโลก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย และกลายเป็นคำค้นหายอดนิยมใน Google หลังประชาชนในหลายจังหวัดทั้งพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และเลยรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนเมื่อคืนวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ผศ.เกียรติศักดิ์ ศรภิรมย์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า แผ่นดินไหวขนาด 4.5 ที่ระดับความลึก 5 กิโลเมตร ศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก แม้เป็นแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรงมากนัก แต่มีจุดสังเกตสำคัญ คือ เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจใต้ผิวดินของ United State Geological Survey (USGS) ที่พบว่ามีรอยเลื่อนจำนวนมากอยู่ใต้ชั้นตะกอนจากทางน้ำบริเวณใกล้กับแอ่งพิษณุโลก

ภาพ: ภาพตัดขวางแนวการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติบริเวณแอ่งพิษณุโลก (USGS, 2015) ที่มา:http://www.ccop.or.th/uc/data/41/docs/8-Thailand_Poster_Korea.pdf

พื้นที่ที่มีรอยเลื่อนมีพลังมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกอินเดียยังขยับชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียอยู่เฉลี่ยปีละประมาณ 5 เซนติเมตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนอื่น ๆ ซึ่งจะสะสมพลังจากการเคลื่อนตัวเรื่อย ๆ จนเกิดแผ่นดินไหว แต่จุดที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ได้มีปรากฏอยู่ในรอยเลื่อนมีพลังที่เคยค้นพบ เหมือนเป็นรอยเลื่อนที่ซ่อนอยู่ใต้พรม

สำหรับรอยเลื่อนดังกล่าวนั้นอยู่นอกเหนือจากรอยเลื่อนมีพลัง (Active Faults) ที่ได้รับการสำรวจว่ามีการเคลื่อนตัวนับย้อนหลังไป 10,000 ปี ซึ่งพิจารณาจากสภาพพื้นที่แล้วพบว่า ไม่ได้มีจุดสังเกตที่คาดว่าจะเป็นรอยเลื่อนมีพลังเพราะเป็นพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขาที่ถูกชั้นตะกอนจากทางน้ำปิดทับไว้ และไม่พบการบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวในบริเวณดังกล่าว แต่หลังจากนี้คาดว่าทางกรมทรัพยากรธรณีและผู้เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่สำรวจและอาจมีการเพิ่มรอยเลื่อนมีพลัง จากเดิมที่มีอยู่ 16 กลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

เมื่อพิจารณาลักษณะธรณีวิทยาสัณฐานของพื้นที่อย่างละเอียดผ่านภาพถ่ายทางอากาศ และแผนที่ภูมิประเทศ พบจุดสังเกตที่น่าสนใจคือ แนวการวางตัวของแม่น้ำน่านในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้กับพื้นที่จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว ซึ่งอาจจะเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางของรอยเลื่อนที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้

ผศ.นุศรา สุระโคตร รองคณบดีฝ่ายการศึกษา พัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดพิษณุโลกนั้น แม้จะมีความรุนแรง 4.5 และลึกเพียง 5 กิโลเมตร แต่สร้างความเสียหายให้ทรัพย์สินประชาชน โดยเฉพาะภาพบ้านแตกร้าวที่ปรากฏออกมาตามสื่อต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึงการออกแบบและก่อสร้างบ้านเรือนที่ไม่รองรับการไหวสะเทือน ซึ่งปัจจุบันมีวัสดุต่าง ๆ ที่มีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับการไหวสะเทือนได้เพิ่มมากขึ้น อย่างประเทศญี่ปุ่นก็มีการนำวัสดุเหล่านี้มาใช้เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดกับชีวิตและทรัพย์สินด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคอีสานนั้น อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้ศึกษาวิจัยโดยการใช้คลื่นตรวจวัดแผ่นดินไหว และขุดหลุมตรวจหารอยเลื่อนมีพลังในภูมิภาคอีสาน เหมือนกับการรื้อพรมตรวจสอบพบว่า มีความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวน้อยมาก มีเพียงพื้นที่ จังหวัดเลย และนครพนมเท่านั้น ที่มีรอยเลื่อนมีพลังอยู่

เช็ก! วิธีเอาตัวรอด เมื่อเผชิญเหตุแผ่นดินไหว

ทั้งนี้ ผศ.เกียรติศักดิ์ ทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำวิธีรับมือเมื่อเผชิญกับแผ่นดินไหวว่า หากอยู่ในอาคารหรือตึกสูงและไม่สามารถออกมาภายนอกได้ สิ่งที่ควรทำคือ การตั้งสติ ห้ามลงลิฟต์ หลบใต้โต๊ะที่ใกล้ที่สุดเพื่อป้องกันสิ่งของตกใส่ตัว หรือหากไม่มีโต๊ะ ให้ยืนใกล้เสา หรือคาน เพราะเป็นโครงสร้างที่จะรองรับน้ำหนักได้ดีที่สุด

กรณีที่สามารถออกจากอาคารได้ ให้วิ่งออกจากอาคารโดยเร็วที่สุด แล้วไปอยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่ยืนใต้ต้นไม้ หรือสะพาน ส่วนผู้ที่อยู่บนรถยนต์ เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ควรจอดรถทันที และนั่งรออยู่ในรถจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ

ในประเทศไทย หรือโดยเฉพาะภาคอีสาน มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นไม่มาก ดังนั้น จึงไม่อยากให้ประชาชนตระหนกมากเกินไป แต่หากทราบวิธีป้องกันไว้ ไม่ว่าจะเผชิญเหตุแผ่นดินไหวที่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ก็จะช่วยให้ปลอดภัยได้

ข่าว : ผานิต ฆาตนาค นักประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติการ

ภาพ : พรทิพย์  คำดี นักวิชาการโสตทัศนศึกษา ชำนาญการ

A KKU researcher clarifies the #PitsanulokEarthquake and offers recommendations for earthquake preparedness.

https://www.kku.ac.th/16639

Scroll to Top