สำนักบริการวิชาการ ส่งเสริมความเท่าเทียม สร้างแนวปฎิบัติในการให้บริการที่มีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ

 

             สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่งเสริมนโยบายด้านความเท่าเทียม ต้อนรับเดือน Pride Month ด้วยกิจกรรม Upskill ด้านการสร้างแนวปฏิบัติในการให้บริการของบุคลากรต่อผู้รับบริการที่มีความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ โดยเรียนรู้และสร้างความเข้าใจ เรื่อง “เพศภาวะ สำคัญต่อชีวิตประจำวันอย่างไร” เพื่อสอดคล้องกับภารกิจที่สำคัญของสำบริการวิชาการ ในการเป็นหน้าบ้าน KKU Lifelong Education ที่จะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับทุกคณะ หน่วยงาน รวมถึงผู้รับบริการทุกประเภท พร้อมกับตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ข้อที่ 5 : ว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality)


รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ นำคณะผู้บริหารและบุคลากรของสำนักบริการวิชาการเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในเรื่องของเพศภาวะ สำคัญต่อครอบครัว การทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไร ในปัจจุบันประเทศไทยนับว่ามีความก้าวหน้าและตอบรับกับสถานการณ์ในเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว โดยมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่ระบุความหมายของการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศอย่างชัดเจน และหนึ่งสาระสำคัญคือการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติงานเพื่อให้มีการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลกรเพื่อสร้างเป็นแนวทางปฏิบัติงานในการให้บริการของบุคลากร ตามมาตราการของภาครัฐอีกด้วย


รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ และ อาจารย์นัยนา ประไพวงศ์ วิทยากรในการถ่ายทอดชุดความรู้ด้าน เพศภาวะ ในครั้งนี้ ได้เล่าถึงความสำคัญของการในสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศสภาพ และ เพศภาวะ ผ่านกิจกรรมที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวคิด มุมมองและสะท้อนให้เห็นถึงจุดเริ่มต้น ที่ไปที่มาของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมในสังคม จนต้องมีการผลักดันให้เกิดนโยบายส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศนี้ขึ้นมา พร้อมกันนี้ยังได้เสนอแนะแนวทางในนำเอาความรู้ความเข้าใจนี้ไปเชื่อมโยงกับภารกิจของสำนักบริการวิชาการ โดยเริ่มต้นได้ตั้งแต่การเก็บข้อมูลของผู้มารับบริการที่มีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ พร้อมกับการเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกันส่งเสริม และสร้างความเข้าใจให้กับองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางเพศภาพตามเป้าหมายที่สหประชาชาติได้วางไว้อีกด้วย

  

Scroll to Top