เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 เวลา 08.30 – 10.30 น. กองยุทธศาสตร์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีมอบรางวัลโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวเปิดการประชุม ในการนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบรางวัล ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยชอนแก่น
ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร กล่าวว่า พิธีมอบรางวัลโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เป็นโครงการที่ ฝ่ายบริหาร และกองยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดขึ้นเพื่อคัดเลือก และประกาศยกย่องบุคลากร หรือหน่วยงานที่ดำเนินโครงการที่มีการดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล และ ตามเกณฑ์การประเมินโครงการแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อสนับสนุนพันธกิจของส่วนงาน/หน่วยงาน และมหาวิทยาลัยให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวถึงการมอบรางวัลในครั้งนี้ว่า ทุกโครงการเป็นโครงการที่ดี แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่ประชุมคณะกรรมการเห็นตรงกันคือ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ รางวัลกระจุกอยู่ในคณะบางคณะ ซึ่งผมอยากเห็นรางวัลนี้กระจายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มและส่งเสริมกำลังใจให้ทุกหน่วยงาน นอกจากนี้สิ่งที่พวกเราพูดคุยกันในคณะกรรมการ คือ ทำอย่างไร องค์กรอื่นในมหาวิทยาลัยจะส่งโครงการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นฝากถึงผู้ปฏิบัติงานมหาวิทยาลัยว่า โครงการใดก็ตามที่ท่านทำด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ สามารถส่งประกวดได้ ขณะเดียวกัน เพื่อสนับสนุนการทำงาน คณะกรรมการได้เล็งเห็นถึงการเพิ่มเงินรางวัล เพื่อที่จะส่งเสริมกำลังใจ พร้อมๆกับการสนับสนุนต่อยอดโครงการนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ประการสุดท้ายขอฝากถึงหน่วยงานที่ทำดีแล้วขอให้มุ่งมั่น พัฒนาอย่างต่อเนื่อง คนที่ได้ good practice ต้องวาดหวังว่าจะต้องได้ best practice ผู้ได้ best practice ก็ต้องพัฒนาโครงการ หรือ ผลงานให้ยั่งยืนต่อไป
ผศ.นพ.นราทัศพล ลิขิตดี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้คว้า รางวัลชนะเลิศ รางวัลแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) จาก โครงการการพัฒนาระบบติดตามทักษะประสบการณ์ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ในนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ (MDKKU-Life) และต่อยอดสู่ระบบ KKU-Life ในนักศึกษา เปิดเผยเกี่ยวกับโครงการว่า MDKKU-Life web-based application ก่อตั้งครั้งแรกโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะคณะทำงานมองว่าบัณฑิตที่จบไปนอกจากได้ความรู้ นักศึกษาจะต้องมีประสบการณ์ชีวิต จึงเป็นที่มาของการรวบรวมทักษะของนักศึกษาผ่านระบบ KKU Life ที่นักศึกษาสามารถเห็นได้ว่ากิจกรรมที่เขาเข้าร่วมอยู่คือกิจกรรมชื่ออะไร และกิจกรรมที่เข้าร่วมนั้นได้พัฒนาทักษะอะไรให้กับตนเอง
“นี่คือที่มาของการพัฒนาระบบ Transcript ที่ป็น Life skill ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตครับ ในยุคของ digital transformation เราจะพบว่าข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย จะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ซึ่งระบบ Platform นี้ทำให้นักศึกษาเห็นข้อมูลกิจกรรมของตนเอง ในขณะเดียวกันองค์กรก็สามารถมองเห็นกิจกรรมที่เราได้ทำให้กับนักศึกษาในตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาเรียนรู้ที่จะพัฒนาในการสร้างกิจกรรมในปีการศึกษาถัดไปได้อย่างถูกต้อง และ ตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น ด้วยการบริหารจัดการข้อมูลที่ถูกต้อง และ มีความรวดเร็วฉับไว หรือ Real time ระบบนี้จึงสามารถนำข้อมูลมาใช้เพื่อตัดสินใจในการบริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที สอดคล้องกับยุค Data Driven Organization หรือ องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถนำมาใช้ในการพลิกโฉมการจัดการทำงานขององค์กรให้มีความถูกต้อง รวดเร็ว และตอบสนองการตัดสินใจในปัจจุบัน”
สำหรับผลการคัดเลือกรางวัลแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565
1.รางวัลแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565
รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร ได้แก่ โครงการการพัฒนาระบบติดตามทักษะประสบการณ์ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ในนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ (MDKKU-Life) และต่อยอดสู่ระบบ KKU-Life ในนักศึกษา จาก คณะแพทยศาสตร์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร ได้แก่ โครงการการพัฒนาระบบการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับประชาชนในและเขต อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น จาก คณะแพทยศาสตร์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร ได้แก่ โครงการการพัฒนาสารสนเทศเพื่อการจัดการสู่การพัฒนากระบวนงานและระบบบริการทางพยาธิวิทยาเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการในรอบด้าน จาก คณะทันตแพทยศาสตร์
รางวัลชมเชยได้รับใบประกาศนียบัตร ได้แก่ โครงการระบบการออกเอกสารสำคัญทางการศึกษาฉบับดิจิทัล และการตรวจสอบย้อนกลับอัจฉริยะ จาก สำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ
รางวัลชมเชย ได้รับใบประกาศนียบัตร ได้แก่ โครงการการพัฒนาและศึกษาผลลัพธ์ของการจัดระบบบริการสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โดยการมีส่วนร่วมของทีมสหสาขาวิชาชีพ จาก คณะแพทยศาสตร์
2.รางวัลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565
รางวัลรองชนะเลิศที่ 2 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร ได้แก่ โครงการ Best practices and best services:การตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ในสตรีตั้งครรภ์เครือข่ายโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จาก คณะแพทยศาสตร์
รางวัลชมเชยได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร ได้แก่ โครงการการนำเทคโนโลยีโดรนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมและชุมชน จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์