วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม 2566 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีเปิดการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมอาชีพเกษตรเรื่อง การผลิต การแปรรูป การใช้ประโยชน์ จากแมลงโปรตีน (Black Soldier Fly) แบบครบวงจร ภายใต้โครงการ การส่งเสริมเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อผลิตแมลงโปรตีนสำหรับเป็นอาหารสัตว์อย่างยั่งยืน โดยมี รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ปรเมศ บรรเทิง รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและการต่างประเทศ คณะเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าโครงการฯ และ คุณสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการนี้มีผู้บริหาร คณบดี ตัวแทนคณะหน่วยงานร่วมงาน ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหมวดแมลงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก มีองค์ความรู้ วิจัย หลากหลายที่พร้อมเผยแพร่ให้แก่สังคม โครงการการใช้โปรตีนจากแมลงให้เป็นแหล่งวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์เปนอีกโครงการหนึ่งในหลายโครงการ ที่เรามั่นใจว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น สร้างรายได้ในครัวเรือนเพิ่มนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างยั่งยืน
คุณสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เผยว่า ภาระหน้าที่ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ คือการสนับสนุนนักวิจัย สถาบันวิจัย นำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้จริง ซึ่งการร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งนี้เป็นการผลักดันให้เกษตรกรได้ฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมอาชีพผลิตและแปรรูป แมลงโปรตีน นำพาให้เกษตรกรลดต้นทุน และสร้างรายได้เพิ่ม นับเป็นการต่อยอดงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมอาชีพเกษตรกร เรื่อง การผลิต การแปรรูป การใช้ประโยชน์ จากแมลงโปรตีน (Black Soldier Fly) แบบครบวงจร เป็นหนึ่งกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อผลิตแมลงโปรตีนสำหรับเป็นอาหารสัตว์อย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ระยะเวลาดำเนินโครงการรวม 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2566 ถึง 21 มีนาคม 2567 โดยวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการฯ เพื่อสร้างกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถผลิตแมลงโปรตีนเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ และเพิ่มโอกาสการใช้แมลงโปรตีนเป็นวัตถุดิบโปรตีนทางเลือกในการผลิตอาหารสัตว์ระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ได้มาตรฐานและแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและเลี้ยงไก่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน ไม่น้อยกว่า 100 คน
“มีการจัดฝึกอบรม ณ โรงเรือนต้นแบบโรงเรือนต้นแบบการวิจัยและการผลิตแมลงอุตสาหกรรมแบบครบวงจร จำนวน 4 รุ่น รุ่นละ 25 คน ในแต่ละรุ่นดำเนินการฝึกอบรม เป็นระยะเวลา 2 วัน เป็นการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงและผลิตแมลงโปรตีน การใช้ประโยชน์ และการแปรรูปจากแมลงโปรตีน พร้อมกับให้ผู้เข้าฝึกอบรมได้ฝึกปฏิบัติจริงด้วยตัวเองในแต่ละขั้นตอนของการผลิตเลี้ยงแมลงแบบครบวงจรอีกด้วย”
ด้าน รองศาสตราจารย์ปรเมศ บรรเทิง รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและการต่างประเทศ คณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คณะเกษตรศาสตร์สนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อการฝึกอบรมแปรรูปแมลงโปรตีนครบวงจร ด้วยโรงเรือนเลี้ยงแมลงโปรตีนต้นแบบ ห้องทดลอง เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกรได้ และสร้างรากฐานองค์ความรู้ในด้านการผลิตแมลงโปรตีนสำหรับเป็นอาหารสัตว์ให้เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติต่อยอดได้เกิดผลในวงกว้างในอนาคต