คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาทุกท่าน ที่ได้รับรางวัลจากโครงการประกวดออกแบบห้องน้ำ American Standard Design Award 2023 ในหัวข้อ
‘Bathroom Space Design for Multi-generational Living
การออกแบบห้องน้ำที่ตอบโจทย์สำหรับทุกคนในครอบครัว
American Standard Design Award 2023 (ASDA) ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่งผลงานเข้าประกวดออกแบบห้องน้ำภายใต้แนวคิด A Home to Love, A Space for Everyone เปิดโลกแห่งจินตนาการใหม่ในการสร้างสรรค์พื้นที่อยู่อาศัยสำหรับการอยู่ร่วมกันของคนในหลายช่วงวัย เพื่อเนรมิตห้องน้ำให้เป็นห้องแห่งการพักผ่อนและให้ความสดชื่น พร้อมทั้งเป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์การใช้งานของทุกคนในครอบครัวอย่างแท้จริง ซึ่งได้เปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2566 และได้ตัดสินผู้ได้รับรางวัลระดับประเทศเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ผ่านมาโดยมีรายชื่อตามลำดับ ดังนี้
รางวัลชนะเลิศอันดับ1 นางสาวมาริษา ชนประชา
(อาจารย์ ดร.สินินาถ โคตรุฉิน อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการประกวด)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 นางสาวพรรวษา น้อยธรรมราช
(รศ.กุลศรี ตั้งสกุล อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการประกวด)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายวุฒิชัย โคตรชา
(อาจารย์ ดร.สินินาถ โคตรุฉิน และ รศ.กุลศรี ตั้งสกุล อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการประกวด)
เข้ารอบ 7 คนสุดท้าย (national finalists)
นายชญานนท์ ชินวงศ์
(รศ.กุลศรี ตั้งสกุล อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการประกวด)
นางสาวปุณยาพร บรรดาศักดิ์
(อาจารย์วิชชา กราบไกรแก้ว อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการประกวด)
นางสาวมาริษา ชนประชา ผู้ชนะเลิศอันดับ 1 กับผลงานชื่อว่า SPACE AND INTERACTION กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบคือ การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เนื่องด้วยหลายครอบครัวรวมถึงตัวของผู้ออกแบบมีประสบการณ์ในการใช้พื้นที่พื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่ที่ต้องใช้ร่วมกันของคนภายในครอบครัวที่ไม่ได้เป็นการเสริมสร้างให้เกิดการมีปฏิสัมพันธระหว่างคนในครอบครัวมากพอสมควร และ ห้องน้ำถือเป็นพื้นที่ส่วนกลางอีกหนึ่งพื้นที่ที่ทุกคนเลี่ยงไม่ได้เลยที่ จะเข้ามาใช้งาน ผู้ออกแบบจึงคิดว่าเรานั้นสามารถที่จะออกแบบให้พื้นที่นี้ไม่ใช่แค่พื้นที่ที่ต่างคนต่างเข้ามาใช้งานและเดินออกไปเพียงแค่นั้น แต่อยากให้พื้นที่นี้เป็นตัวกลางหรือเป็นอีกส่วนหนึ่งในการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นได้ ผ่านงานออกแบบชิ้นนี้ การออกแบบตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานอย่างไร …. เนื่องด้วยเป็นพื้นที่สำหรับรองรับผู้ใช้งานที่หลากหลาย ผู้ออกแบบจึงออกแบบ Space แต่ละส่วนให้มี Function ที่สามารถตอบรับความต้องการของ User ที่มีความแตกต่างทั้งด้วยช่วงวัย เพศ รสนิยมและความต้องการเฉพาะส่วนบุคคล โดยไม่ลืมคำนึงถึงความปลอดภัย ความสะอาด รวมทั้งความสะดวกสบายในการใช้งาน และสิ่งสาคัญที่โดดเด่นที่สุด คือ การออกแบบห้องน้ำให้เป็นส่วนเชื่อมความสัมพันธ์ให้สมาชิกในครอบครัวได้ใกล้ชิด มีปฏิสัมพันธ์ และมอบความรักให้แก่กันผ่านพื้นที่ส่วนกลางนี้ ความท้าทายในงานประกวดแบบครั้งนี้ คือการออกแบบ space ให้ตอบโจทย์ความตอ้งการของ User หลากหลาย รวมทั้งขนาดของพื้นที่จำกัดซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการออกแบบ Space แต่ละส่วนของห้องน้ำ …. การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ American standard ที่มีคุณภาพ ออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมี Design สวยงามเรียบง่าย เหมาะสมต่อการใช้งานช่วยให้ห้องน้ำที่ถูกออกแบบมานั้นสามารถตอบโจทย์ทั้งในแง่ของความปลอดภัยความสะอาด สะดวกสบาย และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่สวยงาม ทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งด้านกายภาพ และจิตใจของสมาชิกในครอบครัวอย่างแท้จริง
อาจารย์ ดร. สินินาถ โคตรุฉิน ได้กล่าวว่า การส่งผลงานประกวดแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา AR 806 312 วิชาสถาปัตยกรรมภายใน (Interior Architecture) ซึ่งเป็นหนึ่งในรายวิชาของชั้นปีที่ 3 หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งทางรายวิชาได้มอบหมายให้นักศึกษาทำงานปฏิบัติการออกแบบ Project Design 1 โดยใช้โจทย์จริงของโครงการประกวดแบบ American Standard Design Award 2023(ASDA-2023) เพื่อเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ในการทำงานออกแบบ ให้นักศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และนำเสนอไอเดียการออกแบบภายใต้หัวข้อ ‘Bathroom Space Design for Multi-generational Living’ และตามข้อกำหนดอื่นๆของกองประกวด ตลอดจนผลักดันและสนับสนุนให้นักศึกษาทุกคนในคลาสร่วมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ด้วยโดยระหว่างการออกแบบนั้น ทางรายวิชามีทีมอาจารย์ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ท่าน นั่นคือ รศ.กุลศรี ตั้งสกุล อาจารย์วิชชา กราบไกรแก้ว และ อาจารย์ ดร. สินินาถ โคตรุฉิน ที่ช่วยให้คำแนะนำร่วมกันทั้งในระดับภาพรวมของทั้งคลาส และในระดับกลุ่มย่อยที่มีอาจารย์แต่ละท่านประจำแต่ละกลุ่มคอยให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลระหว่างการตรวจแบบร่าง นอกเหนือจากการมอบหมายในรายวิชานี้แล้ว ยังมีนักศึกษาชั้นปีที่ 2 บางส่วนที่มีความสนใจและความกระตือรือร้นในการร่วมแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ภายใต้โครงการประกวดแบบนี้ด้วยการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดและสามารถคว้ารางวัลมาได้อย่างน่าชื่นชมเช่นเดียวกัน
ในการประกวดออกแบบนั้นคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการแข่งขัน จะต้องเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป จากคณะสถาปัตยกรรมหรือตกแต่งภายในจากประเทศ ออสเตรเลีย กัมพูชา* อินเดีย ลาว* มาเลเซีย เมียนมาร์* ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย *สำหรับผลงานที่ส่งเข้ามาจากประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ จะถูกรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน การตัดสินผู้ชนะระดับประเทศเพียงหนึ่งเดียวภายใต้กลุ่มประเทศเหล่านี้ เมื่อผลการแข่งขันภายในประเทศไทยสิ้นสุดลง นางสาวมาริษา ชนประชา จะเป็นตัวแทนจากประเทศไทยไปร่วมนำเสนองานในระดับเอเซียแปซิฟิก ทางคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุด (ผู้ชนะรางวัลที่ 1) ของแต่ละประเทศ เพื่อหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวสำหรับรางวัล Grand Prize Winner ในช่วงวันที่ 16-20 พฤษภาคม 2566 และจะประกาศผลผู้ชนะเลิศระดับเอเชียแปซิฟิกในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ต่อไป
ข่าว : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ
ข้อมูล : อาจารย์ ดร. สินินาถ โคตรุฉิน , รศ.กุลศรี ตั้งสกุล และ American Standard
ภาพ : ผู้ได้รับรางวัลการประกวดทุกท่าน และ American Standard