แพทย์ มข.ไขปม “ไซยาไนด์” คืออะไร ภัยร้าย สารไร้สี

แฮชแท็ก #ไซยาไนด์ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ ตอกย้ำกระแสสังคมที่กำลังให้ความสนใจกับสารดังกล่าว หลังมีรายงานข่าวการเสียชีวิตปริศนาของบุคคลหลายคน ซึ่งคาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับไซยาไนด์ แล้วสารที่หลายคนพูดถึงกันนี้ คืออะไร อันตรายขนาดไหน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีคำตอบ

รศ.พญ.สุดา วรรณประสาท สาขาวิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ไซยาไนด์เป็นสารชนิดหนึ่งที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และมีหลายรูปแบบ ทั้งไซยาไนด์ในรูปแก๊ส เช่น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ที่มีการใช้เป็นอาวุธในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ส่วนไซยาไนด์รูปแบบเกลือ เช่น โพแทสเซียมไซยาไนด์ และ โซเดียมไซยาไนด์ จะพบในน้ำประสานทอง หรือน้ำยาล้างเครื่องเงินเครื่องทอง นอกจากนี้ยังพบในพืช เช่น มันสำปะหลังดิบ ก็มีสาร Linamarin ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ได้โดยใช้เวลา 3 – 24 ชั่วโมง

ยาบางชนิดก็สามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ได้ เช่น ยา Sodium nitroprusside หรือ ยาลดความดัน ที่ใช้เฉพาะกับผู้ป่วยความดันสูงฉุกเฉินที่ต้องการลดความดันอย่างรวดเร็ว แต่ร่างกายของมนุษย์จะมีเอนไซม์ที่ชื่อว่า Rhodanese ซึ่งสามารถกำจัดไซยาไนด์ได้ ขณะเดียวกัน แพทย์จะสั่งจ่ายยาให้ในปริมาณที่น้อยมาก ทำให้การใช้ยาตัวไม่เกิดพิษกับร่างกายของคนไข้

ร่างกายคนเราสามารถกำจัดไซยาไนด์ปริมาณน้อยได้ ดังนั้น คนไข้ที่ได้รับพิษจากไซยาไนด์แสดงว่าได้รับปริมาณมากเกินกว่าที่ร่างกายจะกำจัดได้จนนำไปสู่อาการป่วยและเสียชีวิต

เช็ก! อาการเมื่อได้รับไซยาไนด์เข้าร่างกาย

รศ.พญ.สุดา ระบุว่า ไซยาไนด์สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้หลัก ๆ 2 ทาง คือ การสูดดม และรับประทาน โดยหากรับประทานโพแทสเซียมไซยาไนด์เข้าไปเพียง 200 มก. หรือดมแก๊สไซยาไนด์เพียง 270 ppm ก็อาจถึงชีวิตได้ทันที โดยระยะเวลาในการเกิดอาการนั้นรวดเร็วมาก หากเป็นแก๊สเกิดขึ้นภายในช่วงวินาที ส่วนกลุ่มโพแทสเซียมไซยาไนด์จะเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาเป็นนาที

หลังจากที่เข้าสู่ร่างกายแล้ว กลไกการออกฤทธิ์ของไซยาไนด์จะไม่ได้ทำให้คนไข้ตัวเขียว เนื่องจากไม่ได้ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน แต่ไซยาไนด์จะเข้าไปยับยั้งขบวนการสร้างพลังงานในระดับเซลล์ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างพลังงานได้ ส่งผลให้เซลล์ที่ต้องการออกซิเจนหรือพลังงานมาก เช่น สมองและหัวใจได้รับผลกระทบก่อน

สำหรับอาการจะเริ่มจากสมองก่อน คือ มีอาการวิงเวียน ไม่รู้สึกตัว ชัก และหมดสติ ลามไปสู่อาการเกี่ยวกับหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันเพิ่มขึ้นในช่วงแรก และหัวใจหยุดเต้นในที่สุด ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ไปจนถึงอาการทางระบบหายใจ คือ หายใจช้า และหยุดหายใจในที่สุด ส่วนอาการตัวเขียวนั้นจะเกิดในช่วงสุดท้ายที่มีระบบทางเดินหายใจและหัวใจล้มเหลวแล้ว และสามารถเกิดได้ในคนไข้ที่เกิดจากโรคอื่นเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ รศ.พญ.สุดา ยอมรับว่า วิธีสังเกตไซยาไนด์นั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากกลุ่มโพแทสเซียมไซยาไนด์ หรือโซเดียมไซยาไนด์ไม่มีสี ส่วนกลิ่นคล้ายถั่วไหม้ (Bitter Almond) ในแก๊สไซยาไนด์ หรือในผู้ป่วยที่ได้รับพิษนั้นสังเกตยาก มีรายงานคนไข้ได้กลิ่นนี้เพียง 40% เท่านั้น

ใช้ยาต้านพิษทัน เพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องการให้ประชาชนตื่นตระหนกมากเกินไป เพราะกรณีที่จะเกิดในปัจจุบันเป็นกรณีพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปกติ เบื้องต้น ทุกคนป้องกันตนเองได้ด้วยการเลี่ยงดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารจากคนที่ไม่สนิท ไม่น่าไว้ใจ หรือไม่รู้จัก และหากมีอาการต้องสงสัยให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้รับยาต้านพิษได้ทันเวลา เพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้

ทั้งนี้ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยวินิจฉัยจากทั้งประวัติคนไข้ อาการต่าง ๆ เช่น สีของหลอดเลือด หรือความเป็นกรดในร่างกาย โดยแผนกฉุกเฉินมียาต้านพิษทั้ง Sodium nitrite และ Sodium thiosulfate  ซึ่งสนับสนุนโดยโครงการต้านพิษ สปสช. และผลิตโดยสภากาชาดไทยเตรียมพร้อมไว้เพื่อรักษาคนไข้ที่ได้รับพิษจากไซยาไนด์ด้วย

ไซยาไนด์ เป็นสารควบคุมการใช้งานทั้งในห้องปฏิบัติการและในโรงงานอุตสาหกรรม โดยต้องมีบันทึกการสั่งซื้อและใช้งานโดยละเอียดอยู่แล้ว ดังนั้น กรณีนี้เป็นกรณีพิเศษที่ให้เราได้เรียนรู้ร่วมกัน และนำไปสู่บทเรียนว่าจะมีการป้องกันและควบคุมการซื้อขายไซยาไนด์ได้อย่างไร

ข่าว : ผานิต ฆาตนาค นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ

KKU doctor unravels effects of “cyanide”, a colorless substance , explaining what it is and how fatal it can be

https://www.kku.ac.th/16351

 

Scroll to Top