เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 – 16.30 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดอบรมหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning program) เรื่อง การใช้เครื่องมือ Generative AI เพื่อเป็นผู้ช่วยในการทำงานด้านต่างๆ
โดย รศ.ดร.กานดา สายแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม สำนักหอสมุด มข. ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ อย่างรวดเร็วได้ก้าวเข้ามาเป็นจุดศูนย์กลางของนวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งหนึ่งในพัฒนาของ AI ที่น่าทึ่งมาก คือการเกิดของโมเดลสร้างสรรค์ (generative models) ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิต การทำงาน และการสื่อสารของเราได้อย่างมหาศาล เช่น ChatGPT ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์สุดล้ำที่ช่วยตอบโต้บทสนทนาอย่างเป็นธรรมชาติแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ ChatGPT ยังสามารถช่วยในการเขียนโปรแกรมที่สลับซับซ้อน ช่วยแปลและเรียบเรียงจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง
ในขณะที่ ChatGPT เปลี่ยนแปลงการประมวลผลและการเข้าใจภาษาธรรมชาติ ได้เปิดทางให้โมเดล AI ใหม่ๆ ได้เติมเต็มการใช้งานด้านอื่นๆ เช่น Midjourney ซึ่งเน้นการสร้างภาพจากคำบรรยายข้อความ ได้ใช้ความก้าวหน้านี้ในการเปลี่ยนแปลงโลกศิลปะดิจิทัลและการโฆษณา นอกจากนี้ Generative AI ที่ชื่อ SciSpace ยังสามารถช่วยนักวิจัยในการสรุปบทความวิจัยได้ในหลายภาษา รวมถึงภาษาไทย อีกด้วย นับว่าเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้การเรียนรู้ด้านต่างๆ เกิดได้ง่าย และ ที่ประสิทธิภาพมากขึ้น
รศ.นพ.สุพัชญ์ สีนะวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “สำนักหอสมุด มข. ในฐานะ ศูนย์กลางของการเรียนรู้สำหรับทุกคน หรือ Learning center for all มุ่งเน้นที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ผ่านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended learning experience) ให้ตรงกับความต้องการของประชากรทุกกลุ่ม ทุกวัย โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม (Involvement) ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายอันจะเป็นแนวทางในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป จากความสำคัญของ Generative AI ที่อาจจะมีผลต่อการทำงาน และ การใช้ชีวิตของทุกคนในอนาคตอันใกล้นี้ สำนักหอสมุด มข. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงจัดอบรมหลักสูตรนี้ขึ้น เพื่อวางรากฐานให้ผู้เข้าร่วมอบรม ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไปได้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับ Generative AI ตลอดจน ข้อจำกัด และ ข้อควรระวังในการใช้ เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมให้บุคลากรและ ผู้สนใจโดยทั่วไป สามารถนำเทคโนโลยีใหม่นี้มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบการทำงาน ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
ช่วยลดเวลาการทำงานในบางด้าน เพื่อให้สามารถใช้เวลาไปพัฒนางานด้านอื่นที่มีความสำคัญมากว่า เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้นอกจากการสร้างการตระหนักรู้ ผ่านการอบรมในครั้งนี้แล้ว สำนักหอสมุดยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะนำ generative AI มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการให้บริการของสำนักหอสมุด ให้มีประสิทธิภาพ และ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่มีความหลากหลายได้ดียิ่งขึ้น ในอนาคตต่อไป”
การจัดการอบรมในครั้งนี้ สำนักหอสมุด มข. ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดและร่วมเป็นวิทยากรในการบรรยายเรื่อง “ความสำคัญของการประยุกต์ใช้งาน Generative AI”
การจัดการอบรมในครั้งนี้จัดในรูปแบบผสมผสาน ซึ่งประกอบด้วยการบรรยายในหัวข้อต่างๆ เช่น การประยุกต์ใช้ ChatGPT, Midjourney และ SciSpace ในการทำงาน
วิทยากร โดยบุคลากรของสำนักหอสมุด มข. ได้แก่ รศ.ดร.กานดา สายแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัล นายธีรยุทธ บาลชน นักเอกสารสนเทศ ชำนาญการ นางเยาวพร ศานติวิวัฒน์ บรรณารักษ์ ชำนาญการพิเศษ และนางสาวณัฐอร เลี้ยวประเสริฐ บรรณารักษ์ ปฏิบัติการ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีการอบรมภาคปฏิบัติเพื่อสนับสนุนให้ผู้เข้าอบรมได้มีประสบการณ์จริงจากการใช้งาน generative AI อีกด้วย