คณะศึกษาศาสตร์จับมือคณะวิทยาศาสตร์ ผนึกพลังกับ บพค. (PMU-B) ร่วมเปิดฉากมหกรรม “CODING ERA” Next Wave of Thailand’s Education พร้อมเป็นฮับพัฒนาเด็กและเยาวชนภาคอีสานให้มีทักษะ Coding & AI

คณะศึกษาศาสตร์ และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และ ผศ.ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร รศ.ดร.จารุณี ซามาตย์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและพัฒนาคุณภาพ ผศ.ดร.ศารวุธ จักรเป็ง รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นฝ่ายประถมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) พร้อมด้วยคณาจารย์และนักวิจัยจากคณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงผลงานนวัตกรรมและวิจัยด้าน Coding และ AI ในงาน “CODING ERA” Next Wave of Thailand’s Education ยุคโค้ดดิ้ง : คลื่นลูกใหม่แห่งการศึกษาไทย ซึ่งจัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับพันธมิตร บริษัท โค้ด คอมแบท (เอสอีเอ) จำกัด โดยได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การพัฒนากำลังคนด้านโค้ดดิ้งและปัญญาประดิษฐ์” และ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม กล่าวรายงาน ซึ่งจัดขี้นระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

“ผมมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ยุค Coding Era แล้ว และคนไทยประสบความสำเร็จในการปรับตัว ซึ่งตัวอย่างได้มีให้เห็นแล้วในการแข่งขัน Code Combat ที่แพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบ Coding Edutainment ที่ใช้การอย่างแพร่หลายทั่วโลกกว่า 4 ล้านคน โดยในช่วงการวัดระดับหนึ่งในจำนวนคน 17,000 คน ซึ่งในการแข่งขันทั่วโลกใน 1 สัปดาห์ ซึ่งผู้ที่ได้ลำดับที่ 1 เป็นคนไทยคือ ด.ช. ธนกร แก้วเวียง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยสามารถปรับตัวเข้ากับ Disruptive World ได้ดีมาก” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวในตอนหนึ่งซึ่งฉายภาพให้เห็นเป็นตัวอย่างในความเชื่อมั่นในการปรับตัวของคนไทยที่สามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคของ Coding Era ได้อย่างดี

สำหรับงาน “CODING ERA” Next Wave of Thailand’s Education มหกรรมการเรียนรู้ด้านและการแสดงผลงานนวัตกรรมอีกทั้งยังเป็นศูนย์ร่วมเวทีสำหรับนักวิจัยด้านทักษะ Coding ขั้นสูงที่จะได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและผู้สนใจ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำเสนอ “โมเดลระบบนิเวศการเรียนรู้ที่บูรณาการ Coding & AI สำหรับเยาวชน” ซึ่งเป็นความร่วมมือวิจัยระหว่างคณะศึกษาศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ โดยมี บ.พ.ค. เป็นผู้สนับสนุนในการวิจัย พร้อมหนุนให้เป็นศูนย์กลางของภาคอีสานในการพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมไปถึงบุคลากรทางการศึกษา นอกจากนี้ รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร ได้รับเชิญให้บรรยายพิเศษ หัวข้อ Building New Generations Coding Manpower: The Lesson Learned form Implementing Coding Pedagogy integrated Edutainment Platform for 1,000 Students in KKUDS ซึ่งเป็นผลการวิจัยเบื้องต้นที่คณะศึกษาศาสตร์ได้นำร่องการพัฒนาสมรรถนะโค๊ดดิ้งและ A.I. ในชั้นเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา โดยการออกแบบกิจกรรมร่วมกันระหว่างโมเดลการจัดการเรียนรู้ Innovator design process ร่วมกับ แพลตฟอร์ม Code Combat ซึ่งเป็นโค้ดดิ้งเกมเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบ Coding Edutainment และบริษัท โค้ด คอมแบท (เอสอีเอ) จำกัดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ใน 6 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้มีการดำเนินการ ที่หลากหลายเพื่อส่งต่อความรู้ด้าน โค้ดดิ้ง รวมทั้งมีการต่อยอดสร้างงานสร้างอาชีพโดยร่วมกับภาคเอกชนในการทำข้อตกลงว่าจ้างงานกับเยาวชนที่ผ่านการเรียนรู้จาก CodeCombat

อีกทั้งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการเรียนรู้ภาษาโค้ดดิ้งที่ดีที่สุดที่รับรองโดย American Board for Certification of Teacher Excellence จากประเทศสหรัฐอเมริกา รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร กล่าวเสริมว่าผลเบื้องต้นที่ได้ทดลองศึกษานำร่องเพียง 2 สัปดาห์พบว่า นักเรียนกลุ่มตัวอย่างสามารถผ่านสมรรถนะได้ถึงระดับ (Level) ที่ 18 ซึ่งเทียบได้กับหลักสูตร Basic computer science และมีนักเรียนของเราที่แข่งขันทักษะโค๊ดดิ้งในรูปแบบ e-sport ของ Code Combat ได้ติดอันดับโลกดังที่ท่าน รมต.อว. ได้กล่าวในตอนต้น คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เตรียมความพร้อมเพื่อเป็นฮับในการพัฒนาทักษะโค๊ดดิ้งให้ลงสู่โรงเรียนและประชาชนทั่วไป โดยการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง รวมถึงการจับมือกับพัธมิตรทั้งสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งภาคเอกชน และ บพค. เพื่อขยายผลไปทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเปิดประตูสู่อาเซี่ยนในโอกาสต่อไป

Scroll to Top