มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน เดินหน้าร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ด้วยกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 16 (The 16th National Open Class) สร้างความแข็งแกร่งให้บุคลากรทางการศึกษา จากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 18-19 มีนาคม 2566 ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ศูนย์ความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สมาคมคณิตศาสตรศึกษา มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด และ มูลนิธิพุทธรักษา จัดกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 16 (The 16th National Open Class) ในรูปแบบ Hybrid ผ่านทาง https://openclassthailand.com/ และมีพิธีเปิดในวันที่ 18 มีนาคม 2566 โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวรายงานถึงการจัดงานในครั้งนี้ และ ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา, นายปราโมทย์ ด้วงอิ่ม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และ Mr. Masahiro Oji Vice President of the National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ร่วมกล่าวทักทายและกล่าวถึงความร่วมมือในการพัฒนาครูบุคลากรทางการศึกษาของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น จากนั้น ท่านสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน การเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 16 พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง บทบาทครูภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของไทยและของโลก
ท่านสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการจัดกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 16 (The 16th National Open Class) ว่า จากการที่รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดี ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รายงานถึงการขับเคลื่อนภารกิจด้านการศึกษา ในบริบทต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า การเปิดชั้นเรียนถือเป็นหัวใจสําคัญอย่างหนึ่งในการทํางานเชิงนวัตกรรม เพื่อพัฒนาการศึกษาที่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาทางด้านการสอน เป็นแนวคิดใหม่ที่จะปฏิรูปการศึกษา ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทสําคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน ในการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ที่เน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม “Lesson Study and Open Approach” จนกลายเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ จนกระทั่งสถาบันพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งชาติ(NITS) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบนวัตกรรมมาเข้าร่วมงาน พร้อมๆ กับหน่วยงานหลักทางการศึกษาของประเทศ ทั้ง คุรุสภา และ สคบศ. ได้ร่วมในการขยายผลการใช้นวัตกรรมทั่วประเทศตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ยิ่งได้ทราบว่านวัตกรรม TLSOA (Thailand Lesson Study incorporated Open Approach) มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยเน้นการพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียนในชั้นเรียน และมีเครื่องมือที่สําคัญคือ “การเปิดชั้นเรียน (Open Class)” ยิ่งทําให้เห็นความสําคัญยิ่งขึ้นไปอีกว่า ไม่ใช่เป็นเพียงแค่กิจกรรม แต่เป็น แนวคิดเชิงนวัตกรรมในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ทุกคนเรียนรู้ร่วมกัน (Learning together) ในชั้นเรียนสด (Live Classroom) กล่าวคือ นักเรียนเรียนรู้ร่วมกันในสถานการณ์ปัญหาเดียวกัน ครูเรียนรู้ร่วมกันที่จะเข้าใจนักเรียน ผ่านการร่วมมือกันแก้ปัญหา การที่กิจกรรมการเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ดําเนินการมากว่า 15 ปี จนถึงครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 16 จึงแสดงถึงความยั่งยืนของกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งจะเป็นส่วนสําคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จากการจัดกิจกรรมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมงานได้รับทั้งความรู้ผ่านการบรรยายพิเศษ และเปิดประสบการณ์ ผ่านการรับชมการเปิดชั้นเรียน จำนวน 9 ชั้นเรียน โดย ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมการสอนจากต่างประเทศ และครูไทยที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (TLSOA) อีกทั้งยัง ได้รับฟังการบรรยายพิเศษ จากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การบรรยาย เรื่อง ความร่วมมือทางการศึกษาระดับนานาชาติเพื่อพัฒนานวัตกรรม โดย Mr. Masahiro Oji Vice President of the National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น การบรรยาย เรื่อง ระบบครุศึกษาแบบไหนที่จะช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาของไทย โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ การบรรยาย เรื่อง TLSOA: การเปิดชั้นเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพชั้นเรียน โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ และรับชม ประวัติการสร้างนวัตกรรม TLSOA และกิจกรรมอื่น ๆ มากมายจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์การใช้นวัตกรรม TLSOA ผ่านการเสวนา ในหัวข้อ “การนำนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (Thailand Lesson Study incorporated Open Approach) ไปใช้ในภาคปฏิบัติ” และ “การขับเคลื่อนการใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (Thailand Lesson Study incorporated Open Approach) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงระบบ” และในงานยังมีการออกบูธ นิทรรศการเสมือนจริง (Virtual Exhibition) จากโรงเรียนในโครงการฯ ที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (TLSOA) และการนำเสนอวิจัยในชั้นเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจากสาขาวิชาต่าง ๆ ผู้ที่สนใจยังสามารถรับชมย้อนหลังได้ผ่านทางเว็บไซต์ https://openclassthailand.com/ ซึ่งการจัดงานในปีนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมทางออนไซต์ ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กว่า 500 คน และทางออนไลน์ กว่า 1,200 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครู อาจารย์ นักศึกษาวิชาชีพครู และนักศึกษาทั่วไปที่สนใจ
ข้อมูล ภาพ : พีรณัฐ เอี่ยมทอง สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ
เรียบเรียงข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข